วันอังคาร, มกราคม 10, 2560

คงจริงแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญ ‘มีปัญหาบางอย่าง’





สัญญานไม่ค่อยจะดีนะปีใหม่นี่ นอกจากฝนตกไม่ยั้งทางใต้ จนน้ำหลากท่วมหนักในรอบ ๓๐ ปี

แล้วยังจะมีปัญหา “สัญญาณให้ สนช. ‘สแตนด์บาย’ รองานใหญ่ ‘เรื่องสำคัญ’ โยงไปกระทั่งเรื่องแก้กฎเกณฑ์กติกาใน ‘ประเด็นสำคัญ’”

(อ่านข่าวต่อได้ที่: https://www.thairath.co.th/content/829078)

เรื่องอะไรสำคัญนักหนา ถ้าใช้คำของ สศจ. ก็ต้อง “ว่ากษัตริย์องค์ใหม่ ‘มีปัญหาบางอย่าง’ กับร่างรัฐธรรมนูญ และอาจจะไม่เซ็น”

ฮ้า ขนาดนั้นเลยเหรอ เฮ่อ ต้องอ่านข่าวมติชน “วิษณุแย้ม ต้องแก้ ‘รธน.ชั่วคราว’ หากร่าง รธน. ไม่โปรดเกล้าฯ ในเวลากำหนด”

“เมื่อถามย้ำว่าหากครบกำหนด ๙๐ วัน แล้วยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ ร่างรัฐธรรมนูญลงมาจะเป็นอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ‘ก็ตกไป’ แล้วจะทำอย่างไรต่อก็ต้องพิจารณากัน ซึ่งอาจต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว...

ซึ่งกรอบ ๙๐ วันนั้น คือวันที่ ๖ กุมภาพันธ์นี้” อ่า ยังมีเวลาลุ้น

(http://www.matichon.co.th/news/421689)

แต่ถ้าแม่สายบัวแต่งตัวเก้อจริงๆ ละก็เพราะเหตุใด คงต้องถาม Somsak Jeamteerasakul อีกแหละ เขาอ่านเกมจาก ‘สัญญาน’ ที่ นสพ.มติชนติงไว้เมื่อไม่นานมานี้





ใช่สิ ใช่เลย ‘มติชน’ ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพิ่งนำคณะพรรคเพื่อไทยไปแสดงความยินดีครบรอบ ๓๙ ปีอยู่หมาดๆ (อันนี้ไม่มีนัยยะอะไร เป็นเพียงบังเอิญบังอร)

“ที่มีข่าวลือมาเป็นเดือนว่ากษัตริย์ใหม่ ‘มีปัญหาบางอย่าง’ กับร่างรัฐธรรมนูญและอาจจะไม่เซ็นนั้น น่าจะเป็นเรื่องจริงแล้ว”

สศจ. เน้นบทความของ จรัญ พงษ์จีน ในมติชนสุดสัปดาห์ ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เรื่อง “มาตรา ๕ ส่งเค้ายกเครื่องใหม่บางส่วน” มาเป็นเหตุ

“มาตรา ๕ นั้นคือมาตรา ๗ เดิม ที่พันธมิตรฯใช้อ้างขอ ‘นายกฯพระราชทาน’ ในปี ๒๕๔๙...

คือการเอาข้อความเดียวกันสั้นๆจากมาตรา ๗ มาเพิ่มเติม ใส่ ‘กลไก’ (mechanism) ว่าถ้ามีปัญหาที่ไม่มีระบุในตัวบทรัฐธรรมนูญ จะทำอย่างไร

ในร่างใหม่ได้ระบุไว้เลยว่า “เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เมื่อมีกรณีตามวรรคสองเกิดขึ้น ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ จัดให้มีการประชุมร่วมระหว่างประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานองค์กรอิสระ เพื่อวินิจฉัย”

(https://www.matichonweekly.com/column/article_18385)

บทความ ‘ลึกแต่ไม่ลับ’ นั้นพูดถึง “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็มของ ‘กรธ.’ มีอยู่หลายหมวดหมู่ที่ แม่น้ำ ๓ สาย อันได้แก่ ‘คสช.-ครม.-สนช.’ ไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ลงเรือลำเดียวกันแล้วก็น่าจะหยวนๆ อวยๆ กันตามประสาคนกันเอง

ล่าสุดนี่ สนช. ออกมาอิดออดว่าปีนี้งานเยอะ ทำท่าจะออกกฎหมายลูกไม่เสร็จทันกำหนดโร้ดแม็พ กระทั่ง สปท. ปากหะมา อย่างนายวันชัย สอนศิริ ก็ยังจ้วงจาบคนที่บ่นเรื่องเลือกตั้งจะช้า

ว่า “เป็นพวกดัดจริตทำปั่นป่วนวุ่นวาย บ้านเมืองสถานการณ์อย่างนี้ควรสงบปากสงบคำอยู่ในอาการสำรวม อย่ากระสันอยากเลือกตั้งจนเกินความจำเป็น”

(http://www.matichon.co.th/news/419446)

จนโปรตะกร้อ หัวหน้าใหญ่ คสช. ต้องสะบัดปาก “ตามโร้ดแม็พ ตามโร้ดแม็พ” แม้ กรธ. กรรมการร่างฯ เองยังต้องยืนกรานด้วยว่ากฎหมายลูกเสร็จทันแน่ๆ หมดปัญหา

ทว่า ยิ่งกว่าปัญหาอยู่ที่รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติยังไม่โปรดเกล้าฯ ลงมา เหลือเวลาอีกไม่ถึงเดือนจะครบกำหนด ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรียันว่า “ถึงอย่างไรประเทศไม่มีทางตัน”

“และถ้าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวจริง รัฐบาลก็ต้องประกาศให้ทราบ เพราะจะมุบมิบทำไม่ได้ เรื่องแบบนี้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องทำได้แต่เพียงคิดไว้ในใจ”

พวกนั้น ‘คิดในใจ’ แต่ สศจ. คิดเป็นลายลักษณ์อักษรถึง “เหตุผลเบื้องหลังอย่างหนึ่งของการร่างออกมาเช่นนั้น

คือเพื่อสร้างภาพให้กษัตริย์ในลักษณะที่ว่า ‘ไม่ยุ่ง-อยู่เหนือการเมือง’ คือเมื่อเกิดวิกฤติก็ให้มี ‘กลไก’ ออกมาแก้ ไม่ต้องให้กษัตริย์ออกหน้ามาแก้เอง”

กับ “อีกเหตุผลหนึ่งของการร่างคือ คนร่างประเมินแล้วว่ากษัตริย์องค์ใหม่คงไม่มีบารมีเท่ากษัตริย์ภูมิพล จึงพยายามสร้าง ‘ศูนย์กลาง’ ใหม่ของการแก้วิกฤติ-รักษาระบอบขึ้นมาแทนที่ โดยยกให้ศาลรัฐธรรมนูญและศาลอื่นๆ ทำแทน”

มันคล้องจองกับสภาพการณ์เดี๋ยวนี้พวกศาลก็ชอบทำตัวยิ่งใหญ่คับฟ้าเสียด้วย อย่างที่โฆษกศาลยุติธรรมออกมาพูดถึงกรณีที่มีกลุ่มเรียกร้องให้ปล่อยตัวชั่วคราว ไผ่ ดาวดิน ให้ทันสอบวิชาสุดท้าย ไม่เช่นนั้นจะอดรับปริญญา





โดยมีการจุดเทียนเรียงเป็นข้อความภาษาอังกฤษว่า ‘FREE PAI’ บนทางเท้าหน้าป้ายสำนักงานศาลยุติธรรมและศาลอาญา

นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล มีปฏิกิริยาต่อการนั้นว่า “แม้การแสดงข้อเรียกร้องเป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย แต่ก็พึงต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง

เพราะการกระทำนอกบริเวณศาล แต่หากมีความมุ่งหมายให้เกิดผลในบริเวณศาล และการกระทำนั้นก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ก็อาจเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้”

ขอยืมปากกาของ Atukkit Sawangsuk มาตอบทั่นศาลแทนละกัน “ศาลไม่ใช่อำนาจศักดิ์สิทธิ์ อำนาจตุลาการเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยของปวงชน ไม่ใช่อำนาจที่ผู้พิพากษาจะใช้ตามอำเภอใจ...

หากประชาชนเห็นว่า ผู้พิพากษาวินิจฉัยไม่ตรงตามหลักกฎหมาย ไม่สอดคล้องกับเหตุผลทางกฎหมาย ก็ย่อมแสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ หรือแสดงออก เพื่อโต้แย้งคัดค้านถ่วงดุลอำนาจได้”





อีกอย่าง “การตีความอำนาจศาล...เอาอำนาจศาลที่กฎหมายให้ไว้เพื่อคุ้มครองการทำหน้าที่บนบัลลังก์ ไปอยู่เหนืออำนาจอธิปไตยปวงชน ไปปิดกั้นเสรีภาพในการโต้แย้งวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้”

แต่ถ้าโปรดเกล้าฯ ลงมาให้รัฐธรรมนูญฉบับที่ ๒๐ ประกาศใช้ละก็ ศาลจะมีอำนาจล้ำหน้าพระมหากษัตริย์แล้วไม่ว่าหน้าไหนก็โต้แย้งไม่ได้