วันเสาร์, พฤศจิกายน 18, 2560

เดชรัต สุขกำเนิด : ทำไมตัวเลขคนจนเพิ่มขึ้นเกือบล้าน ทำไมแค่เติมเงินไม่แก้ปัญหา




"การเพิ่มขึ้นของคนจนในครั้งนี้แตกต่างจาก 2 ครั้งแรก ตรงที่สองครั้งแรกจะเกิดในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ (อัตราการเติบโตของ GDP ติดลบ) แต่ครั้งนี้กลับไม่ใช่ เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงเป็นบวกอยู่ แต่รายได้ของพี่น้องคนจนกลับลดลง ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของคนจนในครั้งนี้จึงอาจจะไม่ใช่วิกฤตตามสถานการณ์ในวัฏจักรเศรษฐกิจ แต่น่าจะเป็นวิกฤติในเชิงโครงสร้างที่เหลื่อมล้ำกันในสังคมมากกว่า"


เดชรัต สุขกำเนิด:ตัวเลขคนจนเพิ่มขึ้นเกือบล้าน แค่เติมเงินไม่แก้ปัญหา


17 พฤศจิกายน 2560
โดย ดร.เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ที่มา สำนักข่าวอิศรา

ผมขออนุญาตเรียนท่าน รองนายกรัฐมนตรี ให้ทราบข้อมูลครับ

ตามที่ท่านประกาศจะทำให้คนจนหมดไปจากประเทศไทยในปีหน้า ผมขอนำเรียนข้อมูลล่าสุดของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ชี้ให้เห็นว่า ล่าสุดนั้นคนจนในประเทศไทยกลับเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ลดลง

การสำรวจความยากจน โดยเทียบกับเส้นความยากจน (ที่ 2,920 บาท/คน/เดือน) พบว่าในระหว่างปี 2558-2559 ประเทศไทยมีคนจนเพิ่มขึ้น 963,000 คน (เกือบหนึ่งล้านคน) จากเดิมมีจำนวนคนจน 4.847 ล้านคนในปี 2558 เพิ่มเป็น 5.810 ล้านคน ในปี 2559 (หรือเพิ่มขึ้น 20% จากจำนวนคนจนในปี 2558)
ในจำนวนคนจนที่เพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งล้านคน แยกเป็น คนจนในเมืองเพิ่มขึ้น 436,000 คน (หรือเพิ่มขึ้นถึง 24% ของจำนวนคนจนในเมืองในปี 2558) และคนจนในชนบทเพิ่มขึ้น 527,000 คน (หรือเพิ่มขึ้น 17% ของจำนวนคนจนในชนบทปี 2558)

ถ้ามองในแง่สัดส่วนความยากจนพบว่า สัดส่วนของคนจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 7.21% (หรือมีคนจน 7 คนในประชากร 100 คน) เป็น 8.61%
ในตลอดช่วงเวลา 30 ปี ภาวะการณ์ที่ความยากจนเพิ่มขึ้น เกิดขึ้น 3 ครั้ง ครั้งแรก ในปี 2541-2543 ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง จำนวนคนจนเพิ่มขึ้น 5.5 ล้านคน ครั้งที่สอง ในปี 2551 ในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ จำนวนคนจนเพิ่มขึ้น 398,000 คน และครั้งที่สามก็คือครั้งนี้ ซึ่งมีจำนวนความยากจนเพิ่มขึ้นมากกว่าครั้งวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เสียอีก

การเพิ่มขึ้นของคนจนในครั้งนี้แตกต่างจาก 2 ครั้งแรก ตรงที่สองครั้งแรกจะเกิดในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ (อัตราการเติบโตของ GDP ติดลบ) แต่ครั้งนี้กลับไม่ใช่ เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงเป็นบวกอยู่ แต่รายได้ของพี่น้องคนจนกลับลดลง

ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของคนจนในครั้งนี้จึงอาจจะไม่ใช่วิกฤตตามสถานการณ์ในวัฏจักรเศรษฐกิจ แต่น่าจะเป็นวิกฤติในเชิงโครงสร้างที่เหลื่อมล้ำกันในสังคมมากกว่า

เช่น ในช่วงตั้งแต่ปี 2557-2560 ค่าจ้างที่แท้จริง (หักอัตราเงินเฟ้อออกแล้ว) ของพี่น้องแรงงานแทบไม่เพิ่มขึ้นเลย และรายได้ที่แท้จริงของพี่น้องเกษตรกรยังคงต่ำกว่าปี 2556 แม้จะเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ประสบภัยแล้งเล็กน้อย ในขณะที่การส่งออกและการท่องเที่ยวกำลังเติบโตได้ดี

เมื่อวิกฤติเป็นวิกฤติในเชิงโครงสร้าง การเติมเงินให้คนจน โดยไม่ได้ช่วยให้โอกาสของพี่น้องคนจนมีมากขึ้น และไม่ได้ปรับโครงสร้างที่เหลื่อมล้ำกันให้ลดน้อยลง (เช่น ความเหลื่อมล้ำทางทรัพย์สิน ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา) ก็คงยากที่จะทำให้คนจนลดจำนวนลงอย่างที่ท่านประกาศไว้ครับ

ooo


งานแถลงข่าว “ภาคประชาชนแนะรัฐเลิกบัตรคนจน ลดความเหลื่อมล้ำไม่ได้จริง หนุนรัฐสวัสดิการแก้ปัญหา”


17 พ.ย. 2560 
โดย iLaw


เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ขอเชิญสื่อมวลชน ร่วมงานแถลงข่าว “ภาคประชาชนแนะรัฐเลิกบัตรคนจน ลดความเหลื่อมล้ำไม่ได้จริง หนุนรัฐสวัสดิการแก้ปัญหา” ในวันเสาร์ที่ ๑๘ พฤศจิกายน ณ โรงแรมบลิสตัน สุวรรณ ปาร์ค วิว ตั้งแต่เวลา ๑๑.๐๐ น. เป็นต้นไป

สื่อมวลชนที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ พรรณอุมา โทร. ๐๘๖ – ๗๐๕ – ๖๕๙๑