วันศุกร์, พฤศจิกายน 10, 2560

"ซ่อนแอบแปลงรูป' .. วิถีการเมืองใต้อำนาจทหาร




https://www.facebook.com/subhatra.bhumiprabhas/posts/10213886652861649?pnref=story


ซ่อนแอบแปลงรูป' .. วิถีการเมืองใต้อำนาจทหาร

• การเมืองพม่า อยู่ใต้อำนาจนายพลเน วิน 26 ปี, นายพลอาวุโส ตานฉ่วย 23 ปี หลังจากนั้นก็ 'ซ่อนแอบแปลงรูป' ถอดเครื่องแบบมาตั้งพรรคนายทหารเกษียณอายุ จัดเลือกตั้งและชนะเลือกตั้งจากอำนาจกองทัพสนับสนุน

• การเมืองไทย อยู่ใต้อำนาจจอมพล ป. 10 ปี, จอมพลสฤษดิ์ 5 ปี, จอมพลถนอม 11 ปี

สำหรับของไทย ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เล่าสรุปย่อวิธีการที่ทหารจะควบคุมอำนาจทางการเมืองเพื่อจะมีอำนาจนำในประเทศ จากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่อง ‘บทบาททางการเมืองของจอมพลถนอม กิตติขจร พ.ศ. 2506-2516’ ได้เยี่ยมยอดมากค่ะ

ooo

มรดกยุคจอมพล!! ตั้งพรรคทหารสืบทอดอำนาจในเกมเลือกตั้ง





by ฟ้ารุ่ง ศรีขาว
9 พฤศจิกายน 2560 
Voice TV

เข้าใจปัจจุบันจากอดีต ส่องพรรคทหารในยุคจอมพล เครื่องมือของข้าราชการเกษียณที่หมดอำนาจในวงราชการแต่ยังต้องการรักษาบทบาทในรัฐสภาไม่ว่าจะเป็นเบื้องหน้าหรือเบื้องหลัง ปะทะกับการต่อรองของส.ส.ที่มี ‘คำถาม’ เป็น ‘อาวุธ’ มาตลอดหลายทศวรรษ ด้วยการทักท้วงถึงงบประมาณด้านสาธารณสุข การศึกษาและคมนาคมซึ่งมักจะถูกจัดสรรอย่างเหลื่อมล้ำกับกลาโหม พร้อมบทวิเคราะห์ต้นตอปัญหาซื้อเสียงมีที่มาอย่างไร





Voice TV สัมภาษณ์ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการผู้ค้นคว้าและเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเอก เรื่อง ‘บทบาททางการเมืองของจอมพลถนอม กิตติขจร พ.ศ. 2506-2516’ ย้อนอดีตถึงทหารกับการตั้งพรรคการเมือง พรรคแรกที่ตั้งโดยทหารคือ เสรีมนังคศิลา ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ชนะการเลือกตั้ง แต่หลังจากนั้นถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตีว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรก ปูทางให้มีการรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2500 และเลือกตั้งใหม่พร้อมบทเพลงที่วิพากษ์ ‘นักการเมือง’ แต่ไม่วิจารณ์ ‘นักการเมืองทหาร’

อย่างไรก็ดี การเมืองไทยดำเนินมาถึงจุดสำคัญที่ต้องจัดให้มีเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2512 เมื่อสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลง สหรัฐอเมริกายุติการสนับสนุนกองทัพไทยเนื่องจากเลิกใช้ไทยเป็นฐานในการทำสงครามต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในประเทศเพื่อนบ้าน จอมพลถนอมสร้างพรรคการเมืองสหประชาไทยเป็นพรรครัฐบาลทหารซึ่งมีการเสนอผลประโยชน์แลกเปลี่ยน ส.ส. ทิ้งเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้


-ทหารกับการตั้งพรรคการเมืองในประวัติศาสตร์ แม้ไม่เคยประสบความสำเร็จ แต่ก็มีการตั้งพรรคทหารมาทุกยุคสมัย อาจารย์มองว่าเพราะอะไร 

ต้องเข้าใจการรัฐประหารในการเมืองไทย เวลายึดอำนาจ สิ่งหนึ่งที่ต้องอ้างเป็นเป้าหมายสูงสุดคือการสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิวัติ 2475 คณะราษฎรต้องการสร้างประชาธิปไตย

ดังนั้น คณะทหารที่ยึดอำนาจต่อจากนั้น ตั้งแต่ปี 2490 หรือ ปี 2500 ทุกคณะต้องอ้างว่าเพื่อสร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์ ทหารจึงอยู่ในอำนาจเบ็ดเสร็จได้ระยะเวลาหนึ่งแต่เพราะข้ออ้างนี้เองก็ทำให้ทหารต้องถอยออกจากการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่แม้จะถอยออก ก็ยังอยากควบคุมอำนาจฝ่ายบริหาร จึงสร้างกลไกวิธีต่างๆ ควบคุมรัฐบาลเอง

รูปแบบวิธีการรักษาอำนาจทุกยุคสมัย ช่วงแรกใช้อำนาจทหารแบบเบ็ดเสร็จ แต่เนื่องจากข้ออ้างของการรัฐประหารบอกว่าจะสร้างประชาธิปไตยที่คณะราษฎรทิ้งไว้ ก็เลยจะต้องออกจากการมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ดังนั้น วิธีการต่อมาคือ จะทำให้ ส.ส.ที่เข้าสู่สภา ไม่สามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่มหรือพรรคการเมืองได้ เพื่อที่ทหารจะควบคุมเสียงในสภาไว้ได้ ซึ่งรูปแบบจะอยู่ในการออกแบบรัฐธรรมนูญ บอกว่า ส.ส. สามารถสมัครอิสระได้ ส.ส.ไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้ แต่วุฒิสภาเป็นรัฐมนตรีได้แต่ต้องลาออก (หัวเราะ) คือทำยังไงก็ได้ให้ ส.ส.เป็นแค่ ส.ส. ในสภา แต่ไม่สามารถก้าวไปสู่การเป็นฝ่ายบริหารได้ ยกเว้นเครือข่ายของตนเอง

และต่อมา เมื่อต้องเล่นเกมการมีพรรคการเมือง คณะรัฐประหารก็จะสร้างพรรคการเมือง ทั้งพรรคการเมืองตนเอง และพรรคที่สนับสนุนแอบแฝง เพื่อสร้างการเป็นเครือข่าย เป็นรูปแบบที่การศึกษาวิทยานิพนธ์ของผม ในช่วง 2-3 ทศวรรษนี้มองเห็น

ซึ่งสอดคล้องกับนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์(Paul Brooker,2014 “Authoritarian Regimes”)ที่ศึกษาโมเดลของประเทศต่างๆ ที่ยังเป็นรัฐทหาร มีการรัฐประหารว่า วิธีที่ทหารจะควบคุมอำนาจทางการเมืองเพื่อจะมีอำนาจนำในประเทศ มีกี่รูปแบบกี่วิธีการ ปรากฏว่าหลังจากศึกษาหลายประเทศพบว่า ทหารที่เป็นนักการเมือง มี 2 แบบคือ 1 แบบเปิดเผยแต่งชุดทหารสมบูรณ์แบบ ยืนยันยศถาบรรดาศักดิ์ด้วยเครื่องแบบ พอยู่ได้ระยะหนึ่งก็ไปซ่อนแอบแปลงรูป เพราะคนเริ่มต่อต้าน ซึ่งในรูปแบบที่ 2 นี้ก็จะทำให้คนรู้สึกว่าเป็นรัฐบาลประชาชน คือมาจากการเลือกตั้ง ให้ทหารเกษียณอายุราชการไปรับการเลือกตั้ง เป็นพรรครัฐบาลเช่นเดียวกับพม่า ส่วนอีกแบบคือ ซ่อนแอบแปลงรูป อยู่เบื้องหลังอำนาจที่ชัดเจนคือรัฐบาลของพม่า แม้พรรคอองซานซูจีจะชนะเลือกตั้ง แต่กลไกทั้งหมดในการบริหาร ยังอยู่ในมือพรรคทหารหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรุนแรงปราบปรามชนกลุ่มน้อย การจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ รัฐบาลพลเรือนจะถูกประชาชนมองว่าทำไมทำอะไรไม่ได้ และไม่สามารถจะบอกว่าตัวเองไม่มีอำนาจที่แท้จริง นี่คือการซ่อนแอบแปลงรูปอยู่เบื้องหลัง


-กลไกสืบทอดอำนาจของทหารในประวัติศาสตร์ไทย



เมื่อทหารรัฐประหารปี 2490 ทหารก็ตั้งวุฒิสภา ตกทอดมา 70 ปีจนถึงรุ่นเรา ออกแบบเพื่อให้ทหารและข้าราชการนั่งวุฒิสภาได้

โดยรัฐธรรมนูญที่ทหารสร้างขึ้นจะออกแบบวุฒิสภาให้มีอำนาจใกล้เคียงกับส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง และอำนาจนั้นจะค้ำจุนรัฐบาลทหารต่อไป

พูดง่ายๆ คือ แต่งตั้งให้ทหารมีอำนาจหน้าที่ใกล้เคียงกับ ส.ส. แล้วเมื่อจะต้องเลือกนายกรัฐมนตรี การเขียนรัฐธรรมนูญก็จะระบุว่า นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากส.ส. ก็ได้ ซึ่งการรัฐประหารปี 2490 ทำให้ทหารเป็นนายกรัฐมนตรีได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส.

ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คณะราษฎรเขียนไว้ว่า นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. แปลว่า นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง จะมาจากการเป็นข้าราชการประจำไม่ได้

ต่อมา หลังรัฐประหารปี 2494 มีการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับ 2495 จุดนี้ให้มีการเลือกตั้ง แต่สิ่งสำคัญคือ นายกฯ เป็นใครก็ได้

นอกจากนั้น ยังควบคุม ส.ส. โดยห้ามหาเสียง มีความหมายว่า กลุ่มที่ต่อต้านคณะทหารที่ยึดอำนาจก็สอบตกเรียบเลย เพราะเมื่อห้ามหาเสียง กลไกที่สำคัญคือระบบราชการ ใช้เสียงกระซิบคำบอกเล่าว่าใครดี ก็กลายเป็นกลวิธี ทำให้ได้ส.ส.ที่ไม่ใช่กลุ่มต้านรัฐประหารและเป็นฐานสนับสนุนจอมพล ป. มา 5 ปี


-การเลือกตั้งที่ห้ามการหาเสียง สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไร


การเลือกตั้งที่ห้ามหาเสียง เกิดในปี 2495 ซึ่งก่อนหน้านั้น นับแต่การรัฐประหาร 2490 คณะทหารปราบปรามหลายส่วนทั้ง เสนาธิการทหารบก กองทัพเรือในกบฏแมนฮัตตัน คณะราษฎร เสรีไทยในกบฏวังหลวง ปราบจับนักหนังสือพิมพ์ในกบฏสันติภาพ ‘กุหลาบ สายประดิษฐ์’ ก็ติดคุกกันตอนนี้

เมื่อจับหมดแล้วก็เหลือแต่ ส.ส. ซึ่งเป็น ส.ส.ตั้งแต่รุ่นแรกตั้งแต่ปี 2476 เป็นต้นมา เช่น เตียง ศิริขันธ์ เป็น ส.ส.ที่กล้าพูด กล้าถามตลอดการเป็น ส.ส. มีบทบาทเป็นผู้คัดค้านรัฐบาล ขณะเดียวกันก็สนับสนุนฝ่ายเสรีไทยด้วย

เหลือ ส.ส.กลุ่มเดียวที่เป็นผู้คัดค้านอำนาจคณะรัฐบระหาร ก็หาเสียงไม่ได้แล้ว เจอประกาศห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คนก็ปราศรัยไม่ได้แล้ว

การห้ามหาเสียงมีความหมายว่าคนที่ลงสมัครไม่มีช่องทางให้ชาวบ้านรู้จักหรือจำได้ ขณะที่กลไกที่ลงถึงรากหญ้าที่สุดในตอนนั้นคือกลไกของผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชน แค่กระซิบต่อๆ กันว่าควรเลือกใคร เท่านั้นเสียงก็เทไปหมดแล้ว

ฉะนั้น การห้ามการหาเสียงก็คือการที่จะทำให้กลุ่ม ส.ส.ที่เคยมีบทบาทคัดค้านได้หลุดออกไปจากระบบ ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ พรรคประชาธิปัตย์โดย ควง อภัยวงศ์, เสนีย์ ปราโมช, คึกฤทธิ์ ปราโมช ไม่ได้ลงเลือกตั้ง ไม่ได้เป็น ส.ส.กัน 5 ปี

มีแต่ส.ส.ชุดหนึ่งภายใต้การกำกับรัฐบาล ทำให้รัฐบาลจอมพล ป. อยู่ครบวาระ 5 ปี มีวุฒิสภาที่ทหารคุมไว้ ส่วน ส.ส.ประชาธิปัตย์บางคนถ้าลงเป็น ส.ส.ก็เป็นเรื่องตัวบุคคล เช่น เชียงใหม่ ระยอง จำเป็นต้องรักษาสถานะ


-พรรคการเมืองที่ตั้งโดยทหารพรรคแรก



ปี 2498 จอมพล ป. สร้างพรรคการเมืองขึ้นมา คือพรรคเสรีมนังคศิลา เหตุที่ต้องสร้างพรรค เพราะหากถึงปี 2500 ส.ส.ครบวาระ ก็จะมีการเลือกตั้ง และเป็นปีที่จอมพล ป. จะเกษียณอายุราชการซึ่งก็จะหมดอำนาจโดยฉับพลัน ดังนั้น ต้องเล่นเกมรักประชาธิปไตย ถอยออกจากการควบคุมผ่านวุฒิสภา มาเป็นการสร้างพรรคการเมืองตนเอง เพื่อให้เป็นฐานในการครองตำแหน่งนายกฯ ต่อไปได้

ฉะนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่ทหารจะเกษียณอายุราชการ โดยเฉพาะกองทัพบก เกมที่จอมพล ป. ได้คิดไว้แล้ว คือตั้งพรรคการเมือง ไม่ว่าพรรคที่ตัวเองเป็นหัวหน้าพรรค หรือว่าพรรคที่เป็นเครือข่าย เป้าหมายคือร่วมจัดตั้งรัฐบาลและได้เป็นรัฐมนตรีเป็นผลตอบแทนให้กัน

เมื่อพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. ชนะการเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ก็ถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตีว่าการเลือกตั้งสกปรกไม่ชอบธรรม เป็นวิธีปูทางสู่การรัฐประหารซึ่งเริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2500 คือการบอกว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นสกปรกไม่ชอบธรรม เป็นโมฆะ

เมื่อจอมพล ป. ซึ่งไม่ใช่ผู้นำกองทัพ แต่เป็นเพียงหัวหน้าพรรคการเมือง ถูกโจมตี ผ่านไปอีก 6-7 เดือนต่อมาจึงนำมาสู่การรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ผบ.ทบ. แม้ก่อนหน้านั้น จอมพลสฤษดิ์จะเป็นรองหัวหน้าพรรคพรรคเสรีมนังคศิลา แต่หลังจากนั้น ก็ตั้งพรรคการเมืองใหม่เป็นคู่แข่งพรรคเสรีมนังคศิลา


-เกมพรรคการเมืองหลังจอมพลสฤษดิ์ รัฐประหารโค่นจอมพล ป.พิบูลสงคราม


การเล่นเกมพรรคการเมืองจะเล่นเมื่อต้องเลือกตั้ง มีสภา ดังนั้น หลังรัฐประหารล้มจอมพล ป. พิบูลสงคราม ปี 2500 แล้วจึงต้องมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ปรากฏว่าพรรคที่จอมพลสฤดิ์ ได้สร้างไว้(สหภูมิ)เสียงไม่เยอะ จึงสร้างพรรคใหม่คือชาติสังคม รวมทุกคนที่อยากอยู่ในพรรครัฐบาลมาอยู่เป็นพรรคร่วม แต่จอมพลสฤษดิ์ ไม่ได้เป็นนายกฯ เอง เพราะเกิดภาวะเจ็บป่วยขั้นรุนแรงอาจเสียชีวิตได้

ดังนั้น จึงผลักดันมือขวาขึ้นมาคือ พล.ท.ถนอม กิตติขจร ขึ้นเป็นพลเอกเป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้น ส่งจอมพลสฤษดิ์ไปรักษาตัวที่อเมริกา ภายใต้งบประมาณการดูงานกองทัพบกโดยรัฐบาลไทย

จากนั้น หมอที่อเมริกาบอกว่าจะมีชีวิตอยู่อีกเพียง 5 ปี เป็นที่มาที่ไทยเข้าสู่ยุคเผด็จการสมบูรณ์แบบเพราะคนมีอำนาจที่รู้ว่าตัวเอง จะมีชีวิตอยู่อีกเพียง 5 ปีเท่านั้น

จอมพลสฤษดิ์ กลับมาเข้าสู่อำนาจ เป็นนายกรัฐมนตรี(2502-2506) สร้างรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นโมเดลสำหรับทหารที่ยึดอำนาจหลังจากนั้น คือ รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2502 มีมาตรา 17 ซึ่งเขียนไว้ยาว แต่สรุปได้ว่า การกระทำหรือคำสั่งนายกฯ ถือเป็นกฎหมาย สรุป จอมพลสฤษดิ์ทำอะไรก็ได้ มีอำนาจตามมาตรา 17


-วิธีการอยู่ในอำนาจของทหาร จากการค้นคว้าเขียนวิทยานิพนธ์ ‘บทบาททางการเมืองของจอมพลถนอม กิตติขจร พ.ศ. 2506-2516’


จอมพลสฤษดิ์อยู่ในอำนาจเบ็ดเสร็จไม่มีฝ่ายต่อต้านวิพากษ์วิจารณ์ จุดนี้จึงร่างรัฐธรรมนูญให้นานที่สุด เป็นวิธีการที่ค้นพบใหม่ งานวิทยานิพนธ์ของผมได้เข้าไปศึกษาประเด็นนี้ เรื่องการร่างรัฐธรรมนูญปี 2502 ทำไมกว่าจะเสร็จใช้เวลาเกือบ 10 ปี วิธีการง่ายๆ คือบอกว่า ถ้าอยากได้รัฐธรรมนูญที่ดี ต้องใจเย็นๆ ผ่านไปกี่ปีก็บอกเดี๋ยวเสร็จปีหน้า ทุกคนก็ยอม เพราะเป็นความหวัง พอปีหน้าไปเรื่อยๆ แป๊บเดียวก็ 10 ปีแล้ว

วิธีการที่ 2 บอกว่ารัฐธรรมนูญที่ดีต้องถกเถียงให้เรียบร้อย คือในเวทีการประชุม ‘ฝ่ายพลเรือน’ ที่ถูกแต่งตั้งเข้าไปมักจะมีประเด็นอภิปราย ส่วน ‘ฝ่ายทหาร’ มักจะไม่มีประเด็นอภิปราย แต่มักบอกว่า สิ่งที่ฝ่ายพลเรือนเสนอเป็นประเด็นที่ไม่สอดคล้องกับประเทศไทย ดังนั้น ต้องยกเลิกมาตรานี้ สุดท้ายการร่างรัฐธรรมนูญก็ใช้เวลาร่างอันยาวนาน

วิธีที่ 3 ก็คือ ต้องมีผู้ร้ายอยู่ 1 คน ผู้ร้ายในช่วงนี้ก็คือ นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นผู้นำคณะราษฎร ผู้สร้างประชาธิปไตยให้สังคมไทย ตอนนั้นลี้ภัยไปอยู่จีน ซึ่งจีนเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ ขณะที่รัฐบาลไทยใช้เป็นข้ออ้างปราบปรามทำลายคอมมิวนิสต์ เพราะอุดมการณ์ของทหารตอนนั้นคือต่อสู้คอมมิวนิสต์ เพื่อพิทักษ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ดังนั้น หากร่างรัฐธรรมนูญให้ดูเป็นตะวันตก ฝ่ายทหารก็จะบอกว่า ไม่สอดคล้องกับไทย โดยอ้างปรีดี เป็นเงื่อนไข ทำให้การร่างรัฐธรรมนูญยาวนานเป็น 10 ปี กระทั่งปี 2511


ทำไมต่อมาต้องมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร ในยุคจอมพลถนอม ก็เพราะสิ่งสำคัญคือไม่สามารถยื้ออำนาจเบ็ดเสร็จได้อีกต่อไป เนื่องจากสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลง อเมริกาเริ่มรณรงค์หาเสียงใหม่ ยุติสงครามเวียดนาม แปลว่า จากเคยสนับสนุนทหารไทยเพื่อทำสงครามคอมมิวนิสต์กับประเทศเพื่อนบ้าน สนับสนุนอาวุธและการสร้างถนนหนทางใหม่ๆ แต่มาถึงตอนนี้อเมริกาบอกว่า Stop Vietnam War ทำให้รัฐบาลทหารไทยเริ่มกังวลว่าความช่วยเหลือจากอเมริกาจะลดลง

วิทยานิพนธ์ชี้ว่า การร่างรัฐธรรมนูญโดยใช้เวลายาวนาน เป็นเครื่องมือรักษาอำนาจการเมืองของรัฐบาลทหารที่มาจากการรัฐประหาร อย่างที่ 2 คือ ปัจจัยสงครามเวียดนามหรือการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ เป็นเงื่อนไขที่ทำให้รัฐบาลทหารไทยอยู่ได้ตลอดมาจนกระทั่งอเมริกาเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้ การเปลี่ยนแปลงตรงนี้ทำให้รัฐบาลจอมพลถนอม ถอยออกจากยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ เพื่อทำให้การเข้ามามีส่วนร่วมของ ส.ส.เกิดขึ้นได้ หลังจากแช่แข็งประเทศมานาน บ้านเมืองดูเหมือนเจริญแต่จริงๆ แล้วเริ่มพังทลาย เงินทองเริ่มหายไป ข้าวของเริ่มแพงขึ้น หลังอเมริกาโดยประธานาธิบดีนิคสัน เริ่มเปลี่ยนนโยบาย หันไปจับมือกับเหมาเจ๋อตุง ที่ปักกิ่ง ประกาศคืนดีกับปักกิ่งไม่สนการต่อสู้คอมมิวนิสต์อีกต่อไป

ทำให้มีการเลือกตั้งในปี 2512 ซึ่งเป็นแบบเดิมอย่างที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม, จอมพลสฤษดิ์ เคยทำคือ จอมพลถนอมต้องสร้างพรรคการเมือง ชื่อพรรคสหประชาไทย มีจอมพลถนอมเป็นหัวหน้าพรรค มีทหารตำรวจเป็นรองหัวหน้าพรรค ใครก็ตามที่อยากเป็น ส.ส. ก็มองแล้วว่า 10 ปีที่ผ่านมา ต้องอยู่ใต้อำนาจรัฐบาลทหารตลอดเวลา

พรรครัฐบาลทหารเพียงแต่บอกว่า ถ้ามาอยู่ใต้สังกัดด้วยก็จะได้รถใช้ ได้น้ำมันใช้ ได้เงินรายเดือน ใครจะไม่เอา ในขณะที่การเดินทางในท้องถิ่นต่างจังหวัดจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เหล่านี้ สมัยก่อนไม่มีถนนเชื่อมไปที่ต่างๆ การเดินทางผ่านทุ่งนาต้องใช้รถจี๊ป และรัฐบาลทหารได้รถจี๊ปมาเยอะ ก็เข้าไปเสริมทัพ ใครอยากเป็น ส.ส.รัฐบาลก็มา ทำให้พรรคสหประชาไทยได้เสียงข้างมากหลังเลือกตั้ง จอมพลถนอมก็เป็นนายกรัฐมนตรีเหมือนเดิม คณะทหารก็เป็นรัฐมนตรีเหมือนเดิม เป็นรัฐบาลทหารภายใต้การแปลงโฉมว่ามีการเลือกตั้ง


-ทหารกับการถูกตั้งคำถาม


จุดนี้รัฐบาลทหารจอมพลถนอมก็จะอยู่ได้แค่ 2 ปี จุดอ่อนอันหนึ่งเมื่อต้องมีส.ส.ในสภา คือ นายทหารทนไม่ได้กับคำถาม เนื่องจาก ส.ส. เป็นคนที่ไม่มีอำนาจ มีแต่คำถามและคำพูด ส่วนสภาเป็นเวทีที่ออกแบบมาเพื่อให้ ส.ส.ไปถามและไปพูด

เวลา ส.ส.ถามก็เป็นปัญหา เพราะรัฐบาลทหารคุ้นเคยแต่การสั่งว่าต้องทำแบบนี้ๆ แต่ ส.ส. ถามว่า ทำไมท่านถึงต้องซื้ออาวุธ แทนที่จะไปใช้สร้างโรงพยาบาล คำถามนี้เป็นคำถามที่รัฐบาลทหารรู้สึกว่ามันคันใจ

ที่จริงเป็นหลักทางการเมือง การจัดสรรสิ่งที่มีค่า งบประมาณของประเทศเป็นสิ่งที่มีค่า แต่จะมีคำถามออกมา ทำไมโรงเรียนถึงขาดแคลน ทำไมเด็กจึงได้เรียนแค่ ป.4 ไม่ได้เรียนมัธยมหรือมหาวิทยาลัย การตั้งคำถามเหล่านี้ทำให้ต้องจัดสรรงบประมาณมากขึ้น ซึ่งอำนาจอีกอย่างหนึ่งของ ส.ส. คือการไปมีส่วนร่วมในการจัดสรรงบประมาณ ถ้าไม่ให้งบด้านการศึกษา ก็ไม่ให้ผ่าน

รัฐบาลทหารถ้าเล่นเกมมีสภาที่มาจากการเลือกตั้ง มีส.ส. ก็ต้องประนีประนอม เพิ่มงบให้ อยากได้ถนนเข้าไปจังหวัดก็ให้

ส่วนถนนไปถึงหมู่บ้านเกิดจาก อบต. คือ เกิดหลังพฤษภา 2535 การกระจายอำนาจเป็นหัวใจของประชาธิปไตย ประเทศเจริญได้ในรอบ 20 ปี เพราะการกระจายอำนาจไป อบต. หมู่บ้านต่างๆ ได้ถนนลาดยาง ถนนซีเมนต์ น้ำประปา ไฟฟ้า ย้อนกลับไปก่อนนั้น ไม่มีถนนไปหมู่บ้าน ไปอำเภอ

เพียง 2 ปีหลังเลือกตั้งปี 2512 รัฐบาลจอมพลถนอมก็ทนไม่ได้กับคำถามเหล่านี้ รัฐบาลทหารมองว่า เป็นการต่อรองเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน ขณะที่ฝ่าย ส.ส.บอกว่า นี่เป็นการต่อรองเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของคนต่างจังหวัดทุกท้องถิ่นต่างหาก เรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับมุมมอง

จุดอ่อนอีกอันหนึ่ง ที่กลับมาวนเหมือนในยุคสมัยของจอมพล ป. คือ จอมพลถนอมต้องเกษียณอายุราชการ อายุ 60 ปี

ประกอบกับ ผลจากการที่อเมริกายุติสงครามต้านคอมมิวนิสต์ แล้วไปจับมือเหมาเจ๋อตุง อเมริกาบอกว่าจะลดความช่วยเหลือไทยลง เพราะไม่จำเป็นต้องต่อสู้กับคอมมิวนิสต์อีกต่อไป เงินของรัฐบาลจะหายไปทันที แถมเป็นปีที่จอมพลถนอมจะเกษียณอายุราชการ ดังนั้น จอมพลถนอมจึงรัฐประหารซ้ำ เดือน พ.ย. ปี 2514 เพื่อยึดกุมอำนาจนี้

ในปี 2514 เป็นการรัฐประหารที่ทหารอยู่ในอำนาจโดยไม่มีรัฐธรรมนูญชั่วคราว นานที่สุด 13 เดือน ซึ่งใน 13 เดือนนี้ คณะทหารที่ยึดอำนาจก็จะบริหารประเทศโดยออก “ประกาศ” ไม่มีพระราชบัญญัติ

การเมืองไทยอยู่ใต้อำนาจทหารต่อเนื่อง จากจอมพล ป. 10 ปี จอมพลสฤษดิ์ 5 ปี จอมพลถนอม 11 ปี รวมทั้งหมด 25-26 ปี มาถึงจุดยาวนานเกินไป ทำให้เกิด 14 ตุลา 2516 ที่พลังนักเรียน นิสิตนักศึกษาทำการน็อครัฐบาลทหาร


-คำถามของ ส.ส. ที่มีต่อทหารมาทุกยุคสมัย


คำถามของ ส.ส.มีมาตลอด ช่วงหนึ่ง ส.ส.บอกว่าเมื่อกระทรวงอื่นมีรายละเอียดงบประมาณแล้ว กระทรวงกลาโหม ก็ต้องมีรายละเอียดแบบนั้นด้วย แต่เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในรอบของการรัฐประหารตลอดมา 85 ปีรัฐประหาร 13 ครั้ง

ดังนั้น ส.ส.จึงไม่สามารถแงะงบกระทรวงกลาโหมได้ว่าใช้ในโครงการอะไรบ้าง และคำถามของ ส.ส.ตั้งแต่มี ส.ส.รุ่นแรกมา เป็นคำถามชุดเดียวกัน คือ ทำไมถึงต้องส่งเสริมการซื้อรถถัง ทำไมถึงไม่สร้างโรงเรียนประชาบาล เป็นคำถามพื้นฐานเพราะงบประมาณของรัฐบาลมันคือการต่อสู้และจัดสรรว่าไปลงที่ไหน เราจึงเห็นว่า เมื่อไหร่มีการรัฐประหาร งบจะไปเพิ่มขึ้นที่กระทรวงกลาโหม

ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขทำไมไม่เพียงพอ นี่คือสิ่งที่ฝ่าย ส.ส. ต่อสู้กัน เช่น งบการศึกษา ก่อนหน้านี้ไม่เพียงพอ เราต้องร้องเพลง ‘แสงเรืองๆ ที่ส่งประเทืองอยู่ทั่วเมืองไทย’ ส่งเสริมการเป็นครู ซึ่งพอผ่านไป 20 ปี ครูล้นประเทศเลย เพราะนี่คือการจัดสรรงบประมาณ ครูขาดแคลนก็ผลิตครู โรงเรียนขาดแคลนก็สร้างโรงเรียน แต่พอมาถึงตอนนี้ประชาชนไม่มีการให้กำเนิดบุตรหลาน ก็เป็นปัญหาต่อด้านอื่น

การศึกษาจึงไม่ใช่ปัญหาที่จะมาอภิปราย สถานการณ์ตอนนี้เป็นเรื่องสาธารณสุข เราจะเห็นว่านี่คือบทบาท ส.ส. ที่จะทำให้ท้องถิ่นตนเองได้รับการผลักดัน ได้รับการแก้ไข

สิ่งหนึ่งที่ ส.ส. สนใจมากที่สุดในช่วง 80 ปีที่ผ่านมา คือเรื่องถนน นี่คือความเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่มีถนน การเข้าถึงทรัพยากรของคนในท้องถิ่นก็ลำบาก ที่สำคัญคือ การขายสินค้าจะทำไม่ได้ จึงต้องต่อสู้เรื่องถนนหนทาง การคมนาคมจึงเป็นสิ่งสำคัญ เช่นเดียวกับการศึกษา การสาธารณสุข นี่คือสิ่งที่ต่อสู้กันมาตลอด 80 ปี


-ความแตกต่างของ ‘นักการเมือง’ ในพรรคทหารและพรรคที่มาจากพลเรือน

พรรคการเมืองทหารมุ่งใช้ทุกวิธีการเพื่อชนะการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะหาเสียงด้วยการแจกปลาทูเค็ม รองเท้าแตะ ถ้าเราไปดูอดีตจะพบว่า เป็นส.ส.สังกัดพรรคทหาร ในขณะที่ ส.ส.ที่หาเสียงในสังกัดพรรคที่ตั้งโดยประชาชน จะเดินสายหาเสียงด้วยการอภิปรายเป็นหลัก เดินทางไปเรื่อยๆ นอนค้างที่นั่น บรรยายที่นี่ ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านรู้จักและรักมาก รวมถึง ส.ส.อีสานหลายคนใช้เสียงแคนบรรเลงเพลงบอกเล่าเรื่องราว เช่น สมคิด ศรีสังคม

ส.ส.ต้องการได้รับการเลือกตั้งแน่ๆ แต่เราจะเห็นความแตกต่าง ส.ส.จำนวนหนึ่งอธิบายว่า ตนเป็นตัวแทนประชาชน ขณะที่ ส.ส.สังกัดพรรครัฐบาลทหารเป็น ส.ส.ที่มุ่งชนะการเลือกตั้งเพื่อให้ตัวเองไต่เต้าตำแหน่งทางการเมือง ถ้าอยู่ในฝ่ายรัฐบาลจะได้รับส่วนแบ่งทำโครงการในจังหวัด การจัดสรรปันส่วนให้ ส.ส.ต่างจังหวัด เกิดจากรัฐบาลทหารต้องการรักษาอำนาจตนเอง จึงเกิดการบิดเบี้ยวการเลือกตั้ง ทำให้เกิดระบบการซื้อเสียง

เพลงหนึ่งซึ่งเรามักจะคิดว่าเป็นเพลงเพื่อชีวิต ร้องโดย ‘คำรณ สัมบุญณานนท์’ ที่ร้อง ‘เสียงโฆษณาของนักการเมือง’ ออกมาประมาณการเลือกตั้งปี 2500 ก็คือพรรคจอมพลสฤษดิ์ ต้องทำลายพรรคของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดังนั้นเพลงของคำรณออกมาเพื่อทำลายพรรคจอมพล ป. ไม่ได้โจมตีพรรคจอมพลสฤษดิ์

ภาพรวมที่ตกค้างมาถึงปัจจุบันคือ เราจะเห็นว่า เวลานักการเมืองมากจากการเลือกตั้ง ก็จะถูกบอกว่า เสียงโฆษณาของนักการเมือง แต่สิ่งที่หายไป คือ เราไม่เห็นเสียงโฆษณาของ ‘นักการเมืองทหาร’ เราเห็นแต่ ‘นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง’ วิธีการเลือกตั้งที่เราบอกว่าไม่ดี ถ้ากลับไปดูก็เป็นผลจากทหารทั้งนั้น เพื่อชิงกันว่าแกงค์ของจอมพล ป. หรือ แกงค์จอมพลสฤษดิ์จะได้ชัยชนะเป็นรัฐบาล


-อาจารย์ใช้เวลานานขนาดไหนในการค้นคว้าและเขียนวิทยานิพนธ์



ตอนทำวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ใช้เวลา 5 ปี เนื่องจากต้องไปอ่านรายงานการประชุมของครม.ในช่วง 10 กว่าปี ในห้องสมุดทำเนียบรัฐบาล ได้เห็นวิธีการของคณะรัฐมนตรีไทย ไม่บันทึกข้ออภิปราย แต่จะบันทึกสรุปเฉยๆ ทำให้เราไม่เห็นข้อถกเถียงอะไร นอกจากได้ศึกษาเอกสาร ก็เห็นภาพรวมว่าทหารแบบจอมพลถนอม ใช้วิธีต่อเนื่องจากจอมพลสฤษดิ์ คือ ร่างรัฐธรรมนูญยาวๆ มีศัตรูทางการเมือง 1 คน ต่อสู้คอมมิวนิสต์ และช่วงผ่อนคลายให้มีการเลือกตั้ง มีพรรคการเมืองของตนเอง และต้องยึดอำนาจอีกครั้ง

ปัจจัยที่ทำให้ทหารไทยอยู่ได้ใน 20 -30 ปีนี้ คือปัจจัยสงครามนอกประเทศ คือต่อต้านคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน ในเวียดนาม กลายเป็นว่า ประเทศไทยมีรัฐประหารเพื่อต้านคอมมิวนิสต์ โดยสหรัฐอเมริกามีบทบาทสูงมาก ดังนั้น จอมพลถนอม เดินทางไปอเมริกา โดยการจัดการของสหรัฐ เพื่อเปิดตัวเองว่า เป็นบุคคลที่นานาชาติรู้จักและได้รับการสนับสนุนจากโลกเสรีอย่างมาก การเดินทางไปเยือนอเมริกาของจอมพลถนอม จอมพลสฤษดิ์ เป็นโมเดลที่ยังค้างอยู่ถึงปัจจุบัน


-ทหารและข้าราชการประจำ ก็เป็น ‘นักการเมือง’



การเข้าสู่อำนาจและตำแหน่งทางการเมือง ปกติเราจะบอกว่านักการเมืองเข้าสู่อำนาจจากการเลือกตั้ง แต่ลองอธิบายใหม่ในทางรัฐศาสตร์ ทุกตำแหน่งเป็นตำแหน่งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี ส.ส. หรือวุฒิสภา ใครเข้ามาดำรงตำแหน่งก็คือนักการเมือง

ในประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา จะมีนักการเมืองเข้าสู่ตำแหน่งนี้ได้ 2 วิธี คือ 1) การเลือกตั้ง ซึ่งจะพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตย 2) ยึดอำนาจหรือรัฐประหาร ซึ่งทำโดยข้าราชการประจำ คือ ทหาร ซึ่งก็เป็นวิธีการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ทหารจึงเป็นนักการเมืองเช่นกัน

นักการเมือง ไม่ว่าจะมีที่มาอย่างไร ต่างพยายามเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองเพื่อกำหนดนโยบายประเทศ การที่ทหารเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง จะมีการสร้างพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเปิดเผยหรือซ่อนรูปสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ทหารใช้บนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นในลาตินอเมริกา ในแอฟริกา หรือในเอเชีย


-ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับประชาชนในประวัติศาสตร์ถึงปัจจุบัน แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง อาจารย์มองว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร


ผมดูการรัฐประหาร 2557 ก็มองเห็นการรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ในปี 2500 ซึ่งครั้งนั้นเป็นโมเดลการรัฐประหารในครั้งต่อๆ มา ไม่ว่าจะรัฐประหารปี 2514, 2519, 2520, 2534, 2549, 2557 โมเดลเหมือนกันหมดเลย คือจะมีคำประกาศตามโมเดลจอมพลสฤษดิ์ จากนั้น จะมีสโลแกน เช่น ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ส่วนรัฐประหารปี 2549 ขออภัยในความไม่สะดวก รัฐประหารปี 2557 คืนความสุข จะต้องมีสโลแกน แล้วหลังจากนั้นจะมีบทเพลง ซึ่งจอมพล ป. เป็นนักวัฒนธรรม สร้างบทเพลงให้คณะรัฐประหารเยอะไปหมด

หลังจากนั้นจะต้องมีคำปราศรัยนายกรัฐมนตรี หรือผู้นำทหารทางโทรทัศน์ ซึ่งคนที่ปราศรัยเก่งมาก คือ จอมพล ป. กับจอมพลสฤษดิ์ จะออกปราศรัยทุกสัปดาห์ เพราะยุคนั้น ประชาชนมีทางเลือกแค่ฟังวิทยุกับอ่านหนังสือพิมพ์ พอมายุคจอมพลสฤษดิ์ ก็มีโทรทัศน์ แต่ก็ไม่มีทางเลือกมากไปกว่านั้น ต่อให้ปิดโทรทัศน์ก็ต้องฟังวิทยุ ต่อให้ปิดวิทยุก็ต้องอ่านหนังสือพิมพ์ ไม่เช่นนั้น ก็ไม่ได้รับข่าวสารใดๆ ทั้งสิ้น

ดังนั้นการศึกษาอดีตจะทำให้เราเห็นปัจจุบันหมดเลยว่า จริงๆ แล้วการรัฐประหาร เป็นสิ่งทำซ้ำ ผลิตซ้ำในรูปแบบเดิม เพียงเปลี่ยนตัวละครในการเล่น หรือใช้สไตล์ในการเล่นที่แตกต่างกัน

แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือการพัฒนาของสื่อออนไลน์ มีการใช้เฟซบุค สมาร์ทโฟน ยูทูบ ทำให้สิ่งที่อยู่ไกลๆ อย่างผู้นำทหารเมื่อก่อนเราไม่รู้จักตัวจริง แต่ตอนนี้ตัวจริงมาอยู่ต่อหน้าเรา ซึ่งทำให้แต่ละคนรู้สึกว่า ‘ใช่เหรอ?’… นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป