วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 19, 2560

“ผู้บ่าวผู้สาวเดินทางไปทำงานต่างประเทศ เหลือแต่ผู้เฒ่ากับเด็กน้อย” คนอีสานไปทำอะไรในต่างแดน


อีสานโพ้นทะเล –จำนวนผู้ใช้แรงงานอีสานเดินทางไปต่างแดนมีอยู่เท่าไหร่และเดินทางไปที่ไหนบ้าง


15/09/2016
The Isaan Record


“ผู้บ่าวผู้สาวหนีเข้ากรุงเทพ เหลือแต่ผู้เฒ่ากับเด็กน้อย” ท่อนหนึ่งจากบทเพลง “บ้าน” ของพงษ์สิทธิ์ คําภีร์บอกเล่าเรื่อง การอพยพของคนอีสานจากมาตุภูมิสู่เมืองใหญ่เพื่อแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าให้กับตนเองและครอบครัว ภาพชินตาของถนนมิตรภาพอัดแน่นเต็มไปด้วยรถยนต์ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว แต่ไม่ใช่เพียงแค่เมืองหลวงหรือเมืองอุตสาหกรรมใหญ่ในไทยเท่านั้นที่คนอีสานต้องจากถิ่นไปทำงาน ภาคอีสานยังเป็นภูมิภาคที่ส่งออกผู้ใช้แรงงานมากที่สุดในประเทศ โดยจังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดที่มีผู้ใช้แรงงานได้รับอนุญาตให้เดินทางไปขายแรงงานในต่างประเทศมากที่สุดติดต่อกันเกือบทุกปี

เดอะอีสานเรคคอร์ด ชวนดูข้อมูลที่น่าสนใจจาก สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ Thailand Overseas Employment Administration (TOEA) ซึ่งรวบรวมข้อมูลสถิติเกี่ยวกับการเดินทางไปทำงานต่างประเทศของคนอีสานบ้านเฮาดังนี้

สถิติจำนวนคนงานในอีสานที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างแดนใน พ.ศ . 2558





(ข้อมูลจากสำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศในปีที่พ.ศ. 2558 ภาคอีสานยังเป็นภูมิภาคที่มีผู้ใช้แรงงานเดินทางไปทำงานต่างประเทศผ่านการลงทะเบียนที่ถูกต้องทั้งหมด 46,553 คน คิดเป็นทั้งหมดร้อยละ61 % จากั้งหมดทั่วทั้งประเทศประมาณ 69,664 คน)


โดยข้อมูลจาก สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ พ.ศ. 2558 ภาคอีสานยังเป็นภูมิภาคที่มีผู้ใช้แรงงานเดินทางไปทำงานต่างประเทศผ่านการลงทะเบียนที่ถูกต้องทั้งหมด 46,553 คน คิดเป็นร้อยละ 61 % จากทั่วทั้งประเทศประมาณ 69,664 คน โดยจังหวัดที่มีแรงงานเดินทางไปทำงานในต่างแดนมากที่สุดคือจังหวัดอุดรธานีตามด้วยจังหวัดชัยภูมิ,นครราชสีมา, ขอนแก่นและหนองคายโดยประเทศไต้หวันเป็นประเทศที่คนอีสานเดินทางไปทำงานมากที่สุด

ข้อมูลจากรายงาน สรุปสถานการณ์การไปทำงานต่างประเทศของแรงงานไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2552-2557 ซึ่งจัดอันดับ 5 จังหวัดของประเทศไทยที่มีแรงงงานที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศ โดย 5 จังหวัดดังกล่าวล้วนแล้วแต่อยู่ในภาคอีสานทั้งสิ้นคือ อุดรธานี, นครราชสีมา ชัยภูมิ,ขอนแก่น, บุรีรัมย์มีเพียงพ.ศ. 2558 ที่จังหวัดหนองคายเข้ามาแทนที่จังหวัดบุรีรัมย์ในอันดับที่ 5 ดังนี้




(รายงานสถิติแรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศของตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552-2557 ของสำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ Thailand Overseas Employment Administration (TOEA) เว็ปไซค์ : http://www.overseas.doe.go.th/)


คนอีสานไปทำอะไรในต่างแดน

ประเทศไต้หวัน

ประเทศไต้หวันเป็นประเทศที่ผู้ใช้แรงงานไทยเดินทางไปทำงานมากที่สุด โดยลักษณะงานส่วนใหญ่เป็นงานในโรงงานอุตสาหกรรมเนื่องจากประชากรในวัยทำงานของประเทศไต้หวันมีจำนวนลดลงอันเนื่องมาจากอัตราการเกิดที่ลดลง รวมทั้งชาวไต้หวันรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาในระดับสูงไม่นิยมทำงานในโรงงานทำให้ผู้ประกอบการหันมาจ้างงานแรงงานข้ามชาติมากขึ้นแต่รัฐบาลไต้หวันเริ่มมีนโยบายให้การคุ้มครองแรงงานท้องถิ่น จึงต้องมีมาตรการจำกัดการนำเข้าแรงงานต่างชาติที่เข้มงวดมากขึ้น
ประเทศอิสราเอล

ผู้ใช้แรงงานไทยที่อยู่ประเทศอิสราเอลทำงานอยู่ในภาคการเกษตรมากที่สุดถึง 95% ของแรงงานไทยทั้งหมด โดยลักษณะงานในภาคเกษตรส่วนใหญ่เป็นการดูแลการผลิตภายในฟาร์มขนาดใหญ่ เช่น เก็บพืชผล, ใส่ปุ๋ยเคมี, ให้อาหารสัตว์ และนอกจากนั้นส่วนหนึ่งยังเป็นผู้ปฏิบัติงานเชี่ยวชาญด้านการเกษตรทำหน้าที่ดูแลกระบวนการผลิตทั้งหมดในฟาร์มจำนวนแรงงานส่วนที่เหลือนั้นทำงานอยู่ในภาคบริการคือร้านอาหารมีอยู่ประมาณ 500 คน ซึ่งรัฐบาลประเทศอิสราเอลอนุญาตให้คนต่างชาติที่เข้ามาทำงานเป็นผู้ปรุงอาหารจะต้องเป็นระดับผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นและจะได้รับค่าจ้างในอัตราที่สูงกว่าแรงงานประเภทอื่นที่ทำงานในร้านอาหารถึงสองเท่า อย่างไรก็การว่าจ้างแรงงานดังกล่าวจะมีอยู่ตามภัตตาคารขนาดใหญ่เท่านั้นโดยที่อัตราการจ้างงานยังต่ำอยู่

ประเทศสวีเดน

ในปี พ.ศ.2558 จังหวัดชัยภูมิเป็นจังหวัดที่มีแรงงานไทยได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานมากที่สุดจำนวน 2,457 คน หากจำแนกตามสาขาอาชีพแล้ว พบว่าแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานส่วนใหญ่นั้นเป็นผู้ปฏิบัติงานฝีมือด้านการเกษตรและการประมงใน พ.ศ. 2557 แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศสวีเดน 94 %เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าและส่วนหนึ่งทำงานกระจายอยู่ในภาคประกอบการอื่นๆ เช่น ช่างซ่อมเครื่องยนต์ ผู้ปรุงอาหาร ฯลฯ

สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)

ใน พ.ศ.2557 แรงงานไทยส่วนใหญ่ที่ได้เดินทางไปทำงานในประเทศเกาหลีทำงานในภาคส่วนอุตสาหกรรมโรงงาน โดยเฉพาะประเภทงานควบคุมเครื่องจักรและผู้ประกอบชิ้นส่วน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 63 % รองลงมาคือผู้ปฏิบัติงานฝีมือในด้านการเกษตรและการประมงซึ่งแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ โดยทำงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิต,งานก่อสร้าง,ด้านเกษตรกรรมและการเลี้ยงสัตว์ อย่างไรก็ตามยังมีอีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นแรงงานที่มีทักษะฝีมือ มักจะทำงานในตำแหน่งผู้ปรุงอาหารระดับเชี่ยวชาญ, ช่างเชื่อมในกิจการอู่ต่อเรือ และช่างปักจักรในอุตสาหกรรมโรงงานเย็บปักจักรอุตสาหกรรม เป็นต้น

ประเทศฟินแลนด์

จังหวัดชัยภูมิเป็นจังหวัดที่มีผู้ใช้แรงงานเดินทางไปปฏิบัติงานในประเทศฟินแลนด์มากที่สุดในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะปฏิบัติงานอยู่ในภาคเกษตรและการประมง ซึ่งในพ.ศ. 2557 มีสูงถึง 98.6 % ของแรงงานไทยทั้งหมดโดยงานส่วนใหญ่เป็นงานว่าจ้างเก็บผลไม้ป่า สำหรับการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าตามฤดูกาลของแรงงานไทยนั้นจะแบ่งเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 3 เดือนต่อครั้ง โดยผู้ประสานงานจะติดต่อบริษัทจัดหาแรงงานเพื่อหาคนไทยเดินทางทำงานไปเก็บผลไม้ป่า โดยประเทศฟินแลนด์ให้สิทธิแก่ชาวต่างชาติทุกคนในการเดินทางเข้าประเทศฟินแลนด์ในลักษณะท่องเที่ยวเพื่อทำงานเก็บผลไม้ป่าชนิดเบอร์รี่,เห็ด และดอกไม้บางชนิดได้