วันเสาร์, พฤศจิกายน 18, 2560

Way Magazine กระชับเชือกรองเท้า วิ่งบนคีย์บอร์ด ตามรอยเท้าของพี่ตูน จากใต้จรดเหนือ ดูสิว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศนี้บ้าง





แม้ย่างก้าวของพี่ตูนจะมีเป้าหมายสำคัญคือการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาล 11 แห่งทั่วประเทศ

แต่ 55 วัน นับจาก 1 พฤศจิกายน - 25 ธันวาคม 2560 ตลอดการวิ่งของร็อคสตาร์ขวัญใจมหาชนบนระยะทาง 2,191 กิโลเมตรนั้นต้องผ่านอะไรบ้าง

เรากางแผนที่สำรวจเส้นแวงของโครงการวิ่งและพบว่าตลอดสองข้างทางจากใต้จรดเหนือ จากเบตงถึงแม่สาย ไม่ได้มีแค่เรื่องสาธารณสุขเท่านั้นที่เป็นปัญหาคาราคาซัง แต่ในบ้านหลังเดียวกันนี้มีประเด็นสาธารณะอีกมากมายให้ขบคิด

กระชับเชือกรองเท้าให้แน่น เราจะวิ่งบนคีย์บอร์ดทีละก้าวเพื่อตามรอยเท้าของพี่ตูน แล้วดูสิว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศนี้บ้าง

‘แสงสุดท้าย’ 13 ปีชายแดนใต้

‘ทางของฉันฝันของเธอ’ โครงการคลองไทยหัวใจของชาติ


‘นาฬิกาตาย’ ที่เกาะเต่า

‘หลังฝน’ ของคนท่าแซะ

‘แค่หลับตา’ หลังโรงไฟฟ้าบ้านกรูด บ่อนอก

‘ไม่รู้เมื่อไร’ (สิทธิของเราจะเท่ากัน)-คนไทยพลัดถิ่น

‘ให้รักคุ้มครอง’ ชาวอ่าวตัว ก. 


เตรียมตัวตาย – หลักประกันแรงงานต่างชาติหรือเศรษฐกิจไทย 4.0

'ชีวิตยังคงสวยงาม’ กรุงเทพมหานคร

‘คนมีตังค์’ เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จังหวัดตาก

‘มันก็แค่อากาศ’ อากาศที่แม่เมาะ

‘ปลายทาง’ การค้ามนุษย์




‘แสงสุดท้าย’ 13 ปีชายแดนใต้

ผ่านไป 13 ปี ปัญหาชายแดนใต้ยังคงร้อนระอุ นับแต่วันเสียงปืนแตกจากเหตุการณ์ปล้นปืน 4 มกราคม 2547 จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ ‘ค่ายปิเหล็ง’ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ยอดรวมผู้เสียชีวิตไม่ว่าจะเป็นประชาชน เจ้าหน้ารัฐ และผู้เกี่ยวข้อง จนถึงวันนี้มีทั้งสิ้น 6,745 ราย บาดเจ็บ 12,375 ราย รวมเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งหมดจำนวน 15,896 ครั้ง

การวิ่งของตูน-อทิวราห์ ปลุกคนไทยให้หันกลับมาสนใจปัญหาชายแดนใต้อีกครั้ง

การวิ่งของตูนปลุกปลอบขวัญ สร้างกำลังใจให้คนในพื้นที่ให้เห็นว่ายังมี ‘แสงสุดท้าย’ ของความหวัง

ทุกย่างก้าวของเขาสร้างรอยยิ้มและคืนความสุขให้แก่พี่น้องในจังหวัดชายแดนใต้ อย่างที่ชาวบ้านไม่เคยได้รับความจริงใจจากรัฐไทยมาก่อน

อ่านเพิ่มได้ที่:
ความหวังยังมี 13 ปีชายแดนใต้ https://waymagazine.org/13years/
ตอกหมุดความรุนแรงชายแดนใต้ ท้าทายกระบวนการสันติภาพ https://waymagazine.org/romadon_panjor/
เรื่องเล่า ‘หลังรอยยิ้ม’ 8 ผู้หญิงชายแดนใต้ https://waymagazine.org/8_southernborderwomen/
จดหมายไม่มีผู้รับ: ความทรงจำประทับจิต https://waymagazine.org/forced_disappearance03/




‘ทางของฉันฝันของเธอ’ โครงการคลองไทยหัวใจของชาติ

เป็นโครงการผีที่เวียนว่ายกลับมาอีกรอบ หลังจากผลุบโผล่ตลอดระยะเวลากว่า 340 ปี นับตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจนถึงปัจจุบัน การขุดคลองเชื่อมทะเลจากอ่าวไทยถึงอันดามันเหมือนจะตายแล้วแต่ความจริงแล้วกลับไม่เคยหายไปไหน

แนวคลอง 9A ตั้งแต่กระบี่-ตรัง-พัทลุง-นครศรีธรรมราช-สงขลา คือตัวเลือกล่าสุดที่ถูกหยิบยกขึ้นมาปัดฝุ่น นอกจากป้ายโฆษณาชวนเชื่อจะปักให้เห็นรายทางแล้ว ความน่าสนใจอีกด้านคือคณะทำงานที่ลงไปจัดเวทีพูดคุยกับคนในพื้นที่ครั้งแล้วครั้งเล่า

งบประมาณแกว่งไปแกว่งมา หลายสำนักข่าวรายงานไม่ตรงกัน แต่ตัวเลขกลมๆ คาดว่าประมาณ 2 ล้านล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5-10 ปี เพื่อขุดคลองยาว 135 กิโลเมตร กว้างไม่น้อยกว่า 400 เมตร ลึก 30 เมตร ลากผ่าน 5 จังหวัด 8 อำเภอ 24 ตำบล 94 หมู่บ้าน 45,000 ครัวเรือน มีการคาดกันว่าคน 63,441 ชีวิตต้องอพยพ

นั่นคือคลองของฉันเพื่อแลกกับความฝันของเธอว่าจะแข่งขันเรื่องเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างการจ้างงาน ลดความยากจน และเกิดพื้นที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ด้วยการเนรมิตเกาะเทียมอันมาจากดินมหาศาลระหว่างการขุดคลอง

ด้วยแนวคลองตัดขวางแผ่นดินใหญ่ขนาดนี้ พี่ตูนต้องวิ่งลงทะเลอย่างเดียวจึงจะพ้นแนว 9A

อ่านเพิ่มเติม:
เวียน ว่าย ไม่ตาย ไม่เกิด: 340 ปี ผีคลองไทย มหากาพย์หลอนภาคใต้ https://waymagazine.org/340-years-thai-canal/

นอกจากเรื่องคลองไทย ในพื้นที่แถบนี้ยังมีประเด็นอุ่นค่อนไปทางร้อน อันเนื่องมาจากความพยายามที่จะเร่งรัดให้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา ได้รับการอนุมัติก่อนที่รัฐบาล คสช. จะหมดอำนาจ ความรีบเร่งและคลุมเครือในหลายประเด็นโดยเฉพาะเรื่องไฟฟ้าไม่พอใช้และถ่านหินสะอาดนั้น ทำให้ภาคประชาชนออกมาตั้งข้อสังเกตเป็นโครงการขายฝันด้วยคำลวง

อ่านเพิ่มเติม:
โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ในเงาเวลา คสช. https://waymagazine.org/coal_technology_power/
โกหกคำโตเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน https://waymagazine.org/coal-lie/



‘นาฬิกาตาย’ ที่เกาะเต่า

ถึงขาที่เรียวยาวของพี่ตูนจะไปถึงสุราษฎร์ฯ แต่คงไปไม่ถึงเกาะเต่าที่ห่างออกจากฝั่งไปถึง 110 กิโลเมตร แต่ถ้าพี่ตูนไปถึงเกาะเต่าจริงๆ อาจจะได้ฟังปากคำคนที่นั่นเล่าเรื่องคดีฆาตกรรมฝรั่งชาย-หญิงที่เข็มนาฬิกาหยุดนิ่งมากว่า 3 ปีแล้ว

2 ตุลาคม 2557 แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาร์ ‘ซอลิน’ และ ‘เวพิว’ ถูกจับในฐานะผู้ต้องหาคดีฆ่าและข่มขืนนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ บริเวณหาดทรายรี หมู่ 1 ตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน หลังถูกจับกุมซอลินและเวพิว สารภาพว่าก่อเหตุฆาตกรรมจริง เพราะต้องการล่วงละเมิดฝ่ายหญิงหลังจากเห็นผู้ตายทั้งสองพลอดรัก และผลตรวจดีเอ็นเอของทั้งคู่ก็ยังตรงกันกับดีเอ็นเออสุจิที่พบในร่างผู้ตายฝ่ายหญิง

หลังจากนั้นไม่กี่วัน สื่อรายงานว่าจำเลยทั้งสองกลับคำสารภาพ และสื่อเริ่มพุ่งเป้าความสนใจไปที่ชายชาวไทย 2 คนผู้มีอิทธิพลบนเกาะ ซึ่งเพื่อนชาวสก็อตแลนด์ของผู้ตายฝ่ายชายอ้างว่าสองคนนี้ต่างหากที่ลวนลามฝ่ายหญิง และถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐานก่อนโพสต์ลงอินเทอร์เน็ต ต่อมาตำรวจไทยเผยว่าเชิญตัวสองคนไทยมาสอบปากคำแล้ว ก่อนจะปล่อยตัวไปหลังทั้งคู่ไม่ยอมให้เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ

2 ธันวาคม 2558 จำเลยให้การว่าถูกซ้อมและบังคับให้รับสารภาพ
24 ธันวาคม 2558 ศาลมีคำพิพากษาประหารชีวิต ซอลินและเวพิว
1 มีนาคม 2560 ศาลอุทธรณ์ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งคู่
21 สิงหาคม 2560 ทีมทนายจำเลยคดีเกาะเต่า ยื่นฎีกาให้ศาลพิจารณา

เอกสารหลักฐานรอบด้าน ย้ำข้อมูลเรื่องกระบวนการจับกุมและการสืบสวนสอบสวนที่ไม่ชอบ จำเลยถูกซ้อมเพื่อให้รับสารภาพ การจัดการเก็บดีเอ็นเอที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล
ที่แน่ๆ ตอนนี้ชีวิตของซอลินและเวพิวยังไม่เปลี่ยนไป ยังรอความหวังเหมือนเดิมอย่างนั้น เพราะเข็มนาฬิกาของคนไทยกับแรงงานข้ามชาติไม่เคยถูกทำให้เดินเท่ากัน




‘หลังฝน’ ของคนท่าแซะ

“ท่าแซะ” ถูกนำมาอธิบายพฤติกรรมชาวเน็ตในโลกออนไลน์ที่ชอบแซะ ถากถาง ทิ่มแทง และกัดจิก แน่นอนว่าคนที่เป็นเป้านิ่งให้ถูกแซะแทบทุกวันในช่วงนี้เห็นจะเป็นใครไม่ได้นอกจากพี่ตูน อาทิวราห์ คงมาลัย

แต่หากพิจารณาให้ลงลึกมากกว่าการแซะจะพบว่า อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร มีเรื่องที่ต้องพูดถึงอยู่เสมอโดยเฉพาะกับสถานการณ์อุทกภัย ด้วยสภาพภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่รับน้ำจากเทือกเขาบรรทัดที่จะไหลมารวมกันที่นี่ก่อนลงทะเล เมื่อเกิดฝนตกทีไรท่าแซะมักกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงตามไปด้วย เรียกได้ว่าฝนตกทีไรหัวใจของคนท่าแซะก็ตุ้มๆ ต่อมๆ เกรงว่าจะได้ลอยตุ๊บป่องไปกับน้ำทุกที





‘แค่หลับตา’ หลังโรงไฟฟ้าบ้านกรูด บ่อนอก


สมญานามเมืองสามอ่าวอันสวยงามในยามเช้าและยามเย็นนั้น หากพี่ตูนได้วิ่งขึ้นไปยังยอดเขาช่องกระจกผ่านมวลหมู่ลิงในฐานะเจ้าของพื้นที่ที่แท้จริง 

เราก็หวังว่า ณ จุดสูงสุดของประจวบคีรีขันธ์นั้น พี่ตูนจะมองเห็นปัญหาต่อเนื่องจากการสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอกที่ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านจากชาวบ้านในพื้นที่เรื่อยมานับตั้งแต่สมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุนจนนำไปสู่การสังหารเจริญ วัดอักษร แกนนำต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้า

แม้ทุกวันนี้โรงไฟฟ้าจะถูกยุบโครงการไปแล้ว แต่การทวงคืนความยุติธรรมให้เจริญกลับเป็นเพียงคลื่นกระทบฝั่ง และปัญหาการรุกรานพื้นที่ชาวบ้านบ่อนอกยังคงไม่สูญหายไปไหน หากแต่แต่งหน้าทาแป้งกลับมาในรูปแบบของโครงการ ‘มหาวิทยาลัยประจำจังหวัด’ ที่แม้จะฟังดูดี แต่สิ่งที่เสียไปด้วยคือพื้นที่ป่าชายเลน 931 ไร่ที่เป็นทั้งแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน รวมไปถึงที่อยู่อาศัยของวาฬ ซึ่งล้วนแต่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของชุมชนในฐานะ ‘ชาวประมง’ ทั้งสิ้น

อ่านเพิ่มเติม:
http://www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/54408/

ไม่นับพื้นที่บ่อนอก หากยังจำภาพการวิ่งรณรงค์ครั้งแรกที่บางสะพานได้ พี่ตูนน่าจะจำได้ว่าพื้นที่นั้นนอกจากปัญหาการขาดแคลนเครื่องมือแพทย์แล้วยังมีปัญหาอื่นอีก และไม่เฉพาะที่บางสะพาน
1. ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโรงถลุงเหล็กสหวิริยา ซึ่งยังคงไม่ได้รับการเยียวยาจากผลกระทบสิ่งแวดล้อม
2. แม้จินตนาจะกล่าวในตอนรับพระราชทานใบปริญญาว่าเกียรติบัตรนี้เป็นของพี่น้องบ้านกรูดที่ร่วมต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม แต่การพยายามรุกรานพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน รุกล้ำสิ่งแวดล้อมยังคงอยู่ภายใต้รัฐราชการแบบไทยๆ

อ่านเพิ่มเติม:
ความเห็นของจินตนาต่อการสร้างโรงไฟฟ้าhttps://prachatai.com/journal/2017/03/70368

ภาพจาก http://www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/26544/





‘ไม่รู้เมื่อไร’ (สิทธิของเราจะเท่ากัน)-คนไทยพลัดถิ่น


พอวิ่งมาถึงจังหวัดชุมพร พี่ตูนอาจได้พบกับชาวบ้านบ้านกลุ่มซึ่งเคยเคยผ่านการต่อสู้อย่างทุกข์ระทมและอย่างยาวนาน เพียงเพื่อคืนสิทธิความเป็นคนไทยหลังถูก ‘กฎหมายในอดีต’ บังคับให้เป็น ‘คนเมียนมาร์’

100 ปีก่อน หลังอังกฤษปักปันเขตแดนเพื่อทำแผนที่ประเทศ มีผลให้มะริด ทวาย และตะนาวศรี เป็นเขตพื้นที่ประเทศพม่า ท่ามกลางการสื่อสารในสมัยนั้นซึ่งไม่มีเฟซบุ๊คกระจายข่าวและรายการคืนความสุข มีชาวบ้านซึ่งพูดไทยจำนวนหนึ่งขึ้นฝั่งไปหากินที่ประเทศพม่าด้วยสำนึกของวิถีชีวิตและการทำประมง ไม่ใช่สำนึกด้านกฎหมายของเส้นเขตแดน แต่เวลานั้นพวกเขาถูกบันทึกเป็นคนพม่า บ้างบันทึกเป็นคนกลุ่มน้อย ทั้งที่ตลอดชีวิตพูดภาษาไทยและยืนยันได้ว่าเกิด มีวิถีชีวิต และมีบรรพบุรุษอยู่ในเขตแดนไทย

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2555 ว่าด้วยการคืนสัญชาติไทยให้คนไทยพลัดถิ่น จะประกาศใช้ในเดือนมีนาคม 2555 ทำให้คนไทยพลัดถิ่นกว่า 500 คน จากกว่า 20,000 คน ผู้พิสูจน์ได้ว่าเป็นคนไทย มีบรรพบุรุษหรือเคยอยู่อาศัยในประเทศไทย (หลักสืบสายโลหิต) ได้สัญชาติไทยคืนกลับมา และแม้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี อาศัยอำนาจตามมาตรา 13 พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 อนุญาตให้แรงงานที่อาศัยในประเทศไทยเป็นเวลานานหรือผู้ที่รอการพิสูจน์สัญชาติแต่ไม่มีบัตรประชาชน ให้ทำงานได้ทุกประเภทจากเดิมเพียง 27 ประเภทเท่านั้น

แต่ในทางปฏิบัติ ยังมีผู้พลัดถิ่นอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการคืนสัญชาติ แม้จะได้รับการผ่อนผันให้ทำงานได้ แต่การไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ก็หมายถึงคุณภาพชีวิต หรือสิทธิการอยู่กินที่ไม่เท่าเทียมกับคนไทยที่ไม่พลัดถิ่นอยู่ดี เช่น การขึ้นทะเบียนคนจน การลงทะเบียนผู้สูงอายุ ลงทะเบียนคนพิการ หรือเงินชดเชยเพราะภัยธรรมชาติอย่างที่คนในรัฐไทยจะมีสิทธิได้กัน

เรียกว่าต่อให้คนไทยพลัดถิ่นจะถือบัตรประชาชนอยู่ในมือแต่ก็ ‘ไม่รู้เมื่อไร’ ที่พวกเขาจะได้รับการยอมรับว่าเป็นคนไทยจริงๆ และคนไทยพลัดถิ่นไม่ได้อยู่แค่แค่ในชุมพรเท่านั้น แต่กระจายอยู่ในจังหวัดระนอง ประจวบคีรีขันธ์ และอีกหลายจังหวัดโดยเฉพาะชายแดนไทย-เมียนมาร์



‘ให้รักคุ้มครอง’ ชาวอ่าวตัว ก.

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 โดยมี 23 จังหวัดได้รับผลกระทบแต่หนักที่สุดคือ ชาวบ้านและชาวประมงจาก 8 จังหวัดบริเวณอ่าวตัว ก. ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี กลายเป็นประเด็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ มากๆ เพราะเนื้อหาในพระราชบัญญัติระบุไว้ว่า

"ผู้ที่ได้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ เหนือน้ำ ในน้ำ และใต้น้ำของแม่น้ำลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบอันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือทะเล หรือบนชายหาดของทะเลโดยไม่ได้รับอนุญาต อยู่ก่อนแล้ว ต้องไปแจ้งการกระทำดังกล่าวภายใน 120 วัน คือภายในวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ที่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา”

ความพีคคือ เมื่อไปแจ้งแล้วผู้แจ้งต้องยอมรับผิดด้วย ข้อบังคับดังกล่าวคงไม่ส่งผลกระทบมากนัก หากเหล่านักลงทุนทั้งหลายได้สร้างสิ่งก่อสร้างผิดตามที่กฎหมายว่าไว้จริงๆ แต่กับชุมชนริมน้ำที่ใช้ชีวิตในพื้นที่ดังกล่าวมาหลายชั่วอายุคนจะทำอย่างไร และหากไปรื้อดูว่าใครเป็นผู้พิจารณา พ.ร.บ.ดังกล่าว จะพบว่าส่วนใหญ่แล้วเป็นทหารเรือ ซึ่งไม่มีความเข้าใจสภาพความเป็นจริงของชุมชนและผังทะเล สุดท้ายจบลงที่สร้างปัญหาใหม่ให้ตัวเองมานั่งแก้เอง เมื่อ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา คสช. ประกาศใช้ ม.44 เพื่อผ่อนผันบังคับใช้กฎหมาย เอาผิดผู้รุกล้ำลำน้ำ ขยายเวลาแจ้งและยกเว้นค่าปรับ อย่างไม่มีกำหนด แน่นอนว่า การออก ม.44 เป็นเพียงการชะลอความเดือดร้อน

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ควรตระหนักไม่แพ้กัน อย่างกรณีการกัดเซาะชายฝั่งทะเล จากตัวเลขเมื่อปี 2554 ชี้ว่า ตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ถึงปากแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาครนั้นถูกกัดเซาะมากกว่า 5 เมตรต่อปี หรือปัญหาการปล่อยน้ำเสียจากนิคมอุตสาหกรรมที่ไหลลงสู่แม่น้ำ 4 สายสำคัญซึ่งมีปลายทางอยู่ที่ทะเลอ่าวตัว ก. ได้แก่ แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกง ยังคงเป็นประเด็นน่าจับตามองอย่างใกล้ชิด





เตรียมตัวตาย – หลักประกันแรงงานต่างชาติหรือเศรษฐกิจไทย 4.0


400,000 คือตัวเลขของแรงงานเฉพาะชาวพม่าในเมืองสมุทรสาคร กว่าครึ่งหนึ่งคือแรงงานถูกกฎหมาย หลังจากรัฐบาลประกาศใช้ พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน แรงงานข้ามชาติจำนวนมากต่างพากันอพยพกลับประเทศบ้านเกิดของตน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลพวงจากความเข้มข้นของตัวกฎหมายที่เพิ่มมากขึ้น แต่ความตื่นตระหนกดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแต่กับฝั่งแรงงานข้ามชาติเท่านั้น เพราะทางฝั่งผู้ออกนโยบายเองก็ดูจะมึนงงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามมา จนสุดท้ายต้องใช้มาตรา 44 ชะลอการใช้พระราชกำหนดฉบับดังกล่าว
ไหนๆ ก็ผ่านเมืองสมุทรสาคร WAY อยากชวนอ่านประเด็นที่เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติสัก 2-3 ประเด็น

...

ความเหยียดหยันอันย้อนแย้ง แรงงานต่างด้าวยุค 4.0

ก่อนหน้านี้ ประกาศจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 70/2557 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2557 เรื่อง มาตรการชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว* และการค้ามนุษย์ วิธีหนึ่งคือการจัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ หรือในชื่อเล่นว่า ‘One Stop Service’

เป็นความพยายามที่จะยกระดับแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมายสัญชาติลาว กัมพูชา และเมียนมาร์ให้เข้าสู่ระบบคือจัดทำทะเบียนประวัติ ออกบัตรประจำตัว และตรวจสุขภาพแรงงาน

แสดงถึงความเข้มงวดกวนขันของนโยบาย

อะไรอยู่เบื้องหลังแนวคิดเช่นนี้ WAY ชวนอ่านบทสัมภาษณ์ ความเหยียดหยันอันย้อนแย้ง แรงงานต่างด้าวยุค 4.0 โดยสัมภาษณ์ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ศึกษาเรื่องราวและความเป็นไปของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับแรงงานข้ามชาติผ่านระบบเอกสารมาอย่างต่อเนื่อง
https://waymagazine.org/pinkaew_laungaramsri/

...

“ไม่มีใครอยากทิ้งลูก” เหตุผลที่ต้องจำใจของแรงงานข้ามชาติ

ทำไมทุกวันนี้จึงเกิดเด็กไร้สัญชาติขึ้นมากมาย?
ทำไมแรงงานข้ามชาติจึงเลือกที่จะทิ้งลูกของตนเอง?
คือคำถามที่ชวนตกใจ และเกี่ยวพันอย่างแยกไม่ออกจากประเด็นแรงงานต่างชาติ ต้องอ่าน “ไม่มีใครอยากทิ้งลูก” เหตุผลที่ต้องจำใจของแรงงานข้ามชาติ
https://waymagazine.org/stateless_people/

...

แรงงานข้ามชาติ…ชีวิตที่ไร้หลักประกัน

ก่อนที่รัฐบาลประกาศใช้ พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ในปี 2557 ประกาศจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 70/2557 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2557 เรื่อง มาตรการชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว* และการค้ามนุษย์ วิธีหนึ่งคือการจัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ หรือในชื่อเล่นว่า ‘One Stop Service’

เป็นความพยายามที่จะยกระดับแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมายสัญชาติลาว กัมพูชา และเมียนมาร์ให้เข้าสู่ระบบคือจัดทำทะเบียนประวัติ ออกบัตรประจำตัว และตรวจสุขภาพแรงงาน

เครือข่ายแรงงานข้ามชาติจังหวัดภูเก็ต (Migrant Worker’s Network in Phuket: MNP) สำรวจสถานการณ์แรงงานต่างด้าวกับการซื้อสิทธิประกันสุขภาพในพื้นที่ พบว่ามีปัญหาหลักๆ อยู่สองประการคือ

1. โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต ไม่ขายประกันสุขภาพให้กับแรงงานและผู้ติดตามแรงงาน
2. โรงพยาบาลแห่งเดิม ขอเอกสารยืนยันตัวจากนายจ้าง สำหรับแรงงานหรือผู้ติดตามแรงงานที่จะมาคลอดบุตร
3. เมื่อไม่มีเอกสารจากข้อสอง โรงพยาบาลแห่งนั้นจะไม่ออกใบสูติบัตรให้ แรงงานจึงไม่มีเอกสารแจ้งเกิดบุตร ทำให้เด็กคนนั้นตกอยู่ในสภาพ ‘เด็กไร้สัญชาติ’

แม้จะไม่ได้เป็นข้อมูลของแรงงานต่างชาติในจังหวัดสมุทรสงคราม แต่ข้อมูลของแรงงานต่างชาติในภูเก็ต ก็น่าจะสะท้อนชีวิตในสมุทรสาครได้เป็นอย่างดี เพราะพวกเราอยู่ภายใต้ระบบเดียวกัน

อ่านแรงงานข้ามชาติ…ชีวิตที่ไร้หลักประกัน
https://waymagazine.org/labour_phuket/




'ชีวิตยังคงสวยงาม’ กรุงเทพมหานคร

ยินดีต้อนรับพี่ตูนสู่มหานครแห่งความเป็นที่สุด ทุกๆ อย่างจะพบได้ที่กรุงเทพฯ ทั้งความเป็นเมืองที่มีปัญหารถติดมากที่สุดในอันดับที่ 12 ของโลก จากปัญหาเรื้อรังทับถมมาตั้งแต่...เอ่อ เอาเป็นว่าย้อนกลับไปตั้งแต่ที่เริ่มมีการวางผังเมืองเลยแล้วกัน ปัญหาของผังเมืองเป็นปัญหาคลาสสิกของระบบราชการที่ไม่ ‘คุย’ กัน จากต้นทางคือกรุงเทพมหานคร ที่รับผิดชอบในการวางผังเมือง ไปจนถึงกรมโยธาธิการและผังเมือง การไฟฟ้า การประปา องค์การโทรศัพท์ พูดได้เลยว่าการวางผังเมืองที่ไม่มีการประสานกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหามากมาย ตั้งแต่รถติด สภาพที่อยู่อาศัยอันแออัด และการสูญเสียต้นทุุนที่มีราคาแพงที่สุด อย่าง เวลา คนกรุงเทพฯ ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนท้องถนน ตั้งแต่ตื่น กินข้าว แต่งหน้า ทำผม ทำงาน คลอดลูก กระทั่งจีบกัน แต่แน่นอน เราคนกรุงเทพฯ ก็ยังเรียกมันว่า “ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว”

อ่านเพิ่มเติมเรื่องผังเมือง:
https://waymagazine.org/การย่ำกับที่ของผังเมือง/

จริงๆ จะว่าไป กรุงเทพฯ ก็อาจเป็นเมืองที่เหมาะแก่การวิ่งไม่ต่างจากการพยายามโฆษณาในฐานะเมืองจักรยานนะ ถ้าพี่ตูนไม่ห่วง

1. การวิ่งไปชนกับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่ถูกผลักให้กลายเป็นคนจนเมือง คนชายขอบ คนไร้บ้าน การเอารัดเอาเปรียบ

2. พื้นผิวถนน สะพานข้ามแยกต่างๆ ที่อาจทรุดลงได้ทุกเมื่อจากสภาพปัญหาจราจร และการวิ่งไปจ๊ะเอ๋กับสารพัดยวดยานพาหนะที่พุ่งเข้าชนได้ทุกเมื่อ แม้แต่บนทางเท้า

3. สุดท้าย ปัญหามลภาวะ และการสุ่มเสี่ยงที่จะถูกจี้ปล้น เพราะที่กรุงเทพฯ เราต่างเป็นคนแพ้ที่ต้องดูแลตัวเอง





‘คนมีตังค์’ เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จังหวัดตาก


สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แม่ทัพด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช. เพิ่งออกมาพูดถึงการขับเคลื่อนนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ว่า ขณะนี้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กำลังเร่งมือเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่มีการปรับปรุง โดยมีประเด็นสำคัญคือ การจัดการที่ดินราชพัสดุเพื่อให้เอกชน หรือ กนอ. เช่าดำเนินการ และมีการปรับหลักเกณฑ์คัดเลือกผู้ลงทุนเพื่อสร้างแรงจูงใจและเร่งรัดการลงทุน รวมทั้งหาแนวทางมาตรการสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีเพื่อดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนให้ได้

ความน่าสนใจอยู่ที่การตอบรับของนายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่อธิบายแผนการทำงานของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ที่มีแผนจะสร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดสระแก้วสงขลา และจังหวัดตาก

นอกจาก 3 จังหวัดข้างต้นแล้ว โปรเจกต์ SEZ ยังประกอบด้วยจังหวัดตราด มุกดาหาร หนองคาย และในเฟส 2 จะเพิ่มจังหวัดกาญจนบุรี นราธิวาส เชียงราย และนครพนมเข้ามา รวมเป็น 10 จังหวัดที่จะเป็นเป้าของโครงการฯ ที่จะดึงการลงทุนในกลุ่ม 13 กิจการเป้าหมายได้แก่
อุตสาหกรรมเกษตร/ประมง
เซรามิก
สิ่งทอ/เครื่องนุ่งห่ม/เครื่องหนัง
เครื่องเรือน
อัญมณีเครื่องประดับ
เครื่องมือแพทย์
ยานยนต์/ชิ้นส่วน
เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์
พลาสติก
ยา
โลจิสติกส์
เขต/นิคมอุตสาหกรรม
กิจการสนับสนุนการท่องเที่ยว

แน่นอนว่ามองในมุมของการลงทุนแล้ว รัฐบาลย่อมหวังเม็ดเงินที่จะเข้ามาหมุนในระบบเศรษฐกิจ แต่สำหรับชาวบ้านในพื้นที่ก็มีเสียงคัดค้านอย่างต่อเนื่อง
เดือนนี้ของปีที่แล้วกลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่นและชาวบ้านภาคเหนือก็รวมตัวกันยื่นฟ้องศาลปกครองจังหวัดพิษณุโลก อันเนื่องมาจากประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 17/2558 นำไปสู่การยื่นออกโฉนดที่ดินโดยกรมธนารักษ์ เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษจำนวน 2,183 ไร่ ในบ้านวังตะเคียน ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวทับซ้อนกับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน และระหว่างการต่อสู้คัดค้านของชาวบ้านก็มีการข่มขู่ กดดัน ชาวบ้านจำนวนมากให้ถอนการคัดค้าน

เฉพาะจังหวัดตากมีเป้าหมายเพื่อดำเนินอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติกบนพื้นที่ 886,875 ไร่ มูลค่าการลงทุน 3,619.90 ล้านบาท ถ้าพี่ตูนวิ่งถึงที่นั่นน่าจะฮัมเพลง “คนมีตังค์” จากอัลบั้ม Save My Life ให้คนจังหวัดตากฟังสักท่อน

“มีสตางค์นี่นะช่างดีเหลือเกิน มีสตางค์จะทำอะไรก็เพลินจะตาย...”

อ่านเพิ่มเติม: ปรับแผนเขตเศรษฐกิจชายแดน กนอ.โดดทำนิคม 4 จังหวัด https://www.prachachat.net/economy/news-33272





‘มันก็แค่อากาศ’ อากาศที่แม่เมาะ

หยุดพักที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง อากาศสดชื่น สูดหายใจเข้าเต็มปอด ทุ่งดอกบัวตองบานสะพรั่ง ลมหนาวก็มาแล้ว นอกจากธรรมชาติงดงาม อำเภอแม่เมาะยังเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการทำเหมืองลิกไนต์และการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลิกไนต์ของประเทศไทย และเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลิกไนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ใช้ถ่านลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงปีละประมาณ 16 ล้านตัน จ่ายไฟฟ้าให้แก่ประชาชนภาคเหนือ 17 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 50 ของการผลิต ภาคกลางร้อยละ 30 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 20

แผนงานขยายระยะเวลาการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าแม่เมาะออกไปจนถึงปี 2590 โดยมีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-7 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2561

ข้อมูลจาก กฟผ. ยืนยันว่า โรงไฟฟ้าแม่เมาะมีระบบจำกัดมลภาวะลงในระดับที่ดีกว่ามาตรฐานสิ่งแวดล้อมกำหนด เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด โดยใช้ระบบมิดชิด พร้อมติดตั้งระบบฉีดพรมน้ำ เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นถ่านหิน จากนั้น จึงนำน้ำไปบำบัดให้สะอาดต่อไป

การประชาสัมพันธ์จาก กฟผ. ยังเชิญชวนให้ผู้คนเข้ามาเที่ยวแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ภายใต้โครงการ เทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะ ซึ่งจัดมา 14 ครั้งแล้ว

อีกด้านของแม่เมาะ - คดีแม่เมาะ

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษา ดคีที่ผู้ป่วยที่อาศัยอยู่รอบเหมืองและโรงไฟฟ้าแม่เมาะ 131 รายร่วมกันฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตั้งแต่ปี 2546 เรียกค่าเสียหายกรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะกระทำละเมิดละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด จนทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน

คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งสรุปเนื้อหาสำคัญได้ว่า

(1) กรณีร้องขอค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มป่วยจนถึงวันฟ้องและภายหลังจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนถึงอายุ 80 ปี ศาลพิจารณาว่า กฟผ. ไม่ต้องจ่าย เพราะตั้งแต่เดือนกันยายน 2541 เป็นต้นมา ไม่มีการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ฯ เกิน 780 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และผู้ฟ้องฯ ไม่อาจแสดงหลักฐานที่แสดงถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้

(2) กรณีค่าขาดประโยชน์จากการประกอบอาชีพ และค่าทดแทนการสูญเสียโอกาสที่จะดำรงชีวิตอย่างคนปกติสุข กฟผ. ไม่ต้องจ่าย เพราะผู้ฟ้องคดีมิได้เสนอหลักฐานให้เห็นว่าโรคดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพจนทำให้ขาดประโยชน์อย่างไร หรือสูญเสียโอกาสดำรงชีวิตอย่างปกติสุขอย่างไร

(3) กรณีค่าทดแทนการเสื่อมสมรรถภาพ สุขภาพและอนามัย และความสูญเสียทางด้านจิตใจ กฟผ. ต้องจ่ายค่าเสียหาย เพราะได้ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินกว่า 780 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามมาตรฐานที่ควรเป็น และเกินกว่า 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยศาลได้กำหนดค่าเสียหาย (1) ในกรณีปล่อยเกิน 780 แต่ไม่เกิน 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต้องจ่ายรายละ 300 บาทต่อครั้ง (2) ในกรณีปล่อยเกินกว่า 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2535 - มิถุนายน 2538) ต้องจ่าย 600 บาทต่อครั้ง (3) ในกรณีปล่อยเกินกว่า 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ในระหว่างเดือนกรกฎาคม 2538 - สิงหาคม 2541 ที่ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2538 ที่กำหนดมิให้ปล่อยเกิน 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แล้ว) ซึ่งเป็นค่าที่สูงกว่าพื้นที่อื่นๆ ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แต่ก็ยังไม่ได้บำบัดหรือควบคุม ซึ่งถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่มีความร้ายแรงและฝ่าฝืนกฎหมายให้ค่าเสียหายในกรณีนี้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีรายละ 1,200 บาท ต่อครั้ง [3]

ภายหลังคำพิพากษาในปี 2558 นักกฎหมายสิ่งแวดล้อมและนักวิชาการได้ออกมาตั้งคำถามถึง การกำหนดมาตรฐานค่าก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์

กล่าวเฉพาะในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ การกำหนดมาตรฐานค่าก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ต้องไม่เกิน 1,300 ลูกบาศก์ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่พื้นที่อื่นในประเทศกำหนดที่ 780 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกา ที่กำหนดค่ามาตรฐานที่ยอมรับได้ในการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลดลงเรื่อยๆ จนปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 210 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งต่ำกว่าค่ามาตรฐานของไทยประมาณ 4 เท่า

นอกจากประเด็นมลพิษ ยังมีเรื่องการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานประชากรในอำเภอแม่เมาะ

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการอพยพราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะมาอย่างต่อเนื่องรวมจำนวน 7 ครั้ง การอพยพครั้งที่ 1-4 เป็นการอพยพที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่บริเวณที่ราษฎรตั้งถิ่นฐาน ส่วนการอพยพครั้งที่ 5-7 การอพยพตามการร้องขอของราษฎรที่อ้างว่าได้รับผลกระทบด้านมลพิษทางเสียง ฝุ่นละอองอันเกิดจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ

ในระยะแรกของการอพยพเกิดขึ้นเพราะพื้นที่แหล่งถ่านหินซ้อนทับอยู่กับชุมชนจึงต้องย้ายชุมชนออกไป แต่เมื่อทำการอพยพก็พบว่าเกิดปัญหาเรื่องสิทธิในที่ดิน แม้ กฟผ. ได้จ่ายเงินทดแทนและจัดสรรที่ดินให้ราษฎรเนื้อที่ 8,169 ไร่ แต่เกิดการร้องเรียนว่าที่ดินจัดสรรใหม่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทำให้ราษฎรเสียโอกาสนำที่ดินไปเป็นหลักฐานการกู้เงิน และการค้ำประกันต่างๆ
การแก้ไขการออกเอกสารสิทธิ์จากการอพยพครั้งที่ 1-4 ประชาชนได้รับเอกสารสิทธิ์ทั้งสิ้น 1,951 ราย ยังเหลืออีก 6 รายอยู่ระหว่างการดำเนินการ ส่วนการอพยพครั้งที่ 5-7 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพ ชาวบ้านยังรอคอยว่าจะได้รับเอกสารสิทธิ์

เพลง ‘ทางกลับบ้าน’ ของวงบอดี้สแลมเหมาะกับบรรยากาศการอพยพของชาวแม่เมาะส่วนหนึ่งได้พอสมควร

ข้อมูลจากกรีนพีซไทยแลนด์ ระบุว่า งบประมาณการประชาสัมพันธ์โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะประมาณ 284 ล้าน กรีนพีซไทยแลนด์ ระบุว่า เม็ดเงินภาษีเหล่านี้ถูกนำไปใช้เพื่อการสร้างภาพลักษณ์และการจ้างมวลชนเพื่อให้เกิดการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้น ทั้งนี้การใช้เงินประชาสัมพันธ์ของ กฟผ. ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2551-2553 วงเงินรวม 134,435,550 และ 38,417,890 และ 30,223,450 ตามลำดับ และเฉพาะ 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 มีการใช้เงินประชาสัมพันธ์รวม 18 รายการ วงเงิน 77,147,000 บาท

แม่เมาะหลากหลายมิติเช่นนี้

อ้างอิงข้อมูลจาก:
http://www.balanceenergythai.com/
http://www.greenpeace.org/
www.egat.co.th
http://www.thaiclimatejustice.org/
หนังสือ เมฆปริศนา: ประวัติศาสตร์บอกเล่าเรื่องเหมืองแร่ในเมืองไทย โดย บำเพ็ญ ไชยรักษ์

อ่านสารคดีเกี่ยวกับครอบครัวหนึ่งในอำเภอแม่เมาะ ซึ่งกองบรรณาธิการ WAY ได้ลงพื้นที่ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา https://waymagazine.org/fah/





‘ปลายทาง’ การค้ามนุษย์


ถึงเส้นชัยแล้วค่ะพี่ตูน เมื่อวิ่งมาถึงอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เรื่องเด่นที่สุดในพื้นที่หนีไม่พ้น ‘การค้ามนุษย์’ ทั้งบังคับขายแรงงานและบังคับให้ค้าประเวณี ด้วยพิกัดพื้นที่จังหวัดเป็นรอยต่อชนกับ 2 ประเทศคือลาวและเมียนมาร์ เส้นเขตแดนกินความยาวทั้งบนบกและลำน้ำโขงกินระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร ทำให้พื้นที่นี้แทบจะเป็นแหล่งค้นหา บรรจุ และส่งออกแรงงานไปทั่วไทยและข้ามไปประเทศเพื่อนบ้าน และหากพี่จำได้ ประเทศเราถูกจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แม้จะขึ้นจากกลุ่มที่ 3 (เลวร้ายสุดๆ) แต่ก็ยังคงถูกจับตามองอยู่ด้วยเหตุผลว่ารัฐบาลไทยยังพยายามแก้ปัญหานี้ไม่เพียงพอ

และภายใต้คำว่า ‘การค้ามนุษย์’ ไม่ใช่แค่การ ‘บังคับ’ ให้ทำงานนะคะพี่ตูน แต่มันซ่อนความเจ็บปวดของมนุษย์ที่ถูกละเมิดสิทธิทุกสิ่งอย่าง เช่น รักษาพยาบาลไม่ได้ แรงงานหลายพันคนคลอดลูกด้วยหมอตำแย เด็กที่เกิดมาไร้รัฐไร้สัญชาติ ไม่ให้การศึกษา เวลาแรงงานจะเข้ามาทำเอกสารหรือรับบริการขั้นพื้นฐานจากรัฐก็ติดปัญหาเรื่องภาษา อคติ และการกีดกันไม่ให้รับบริการ จากคนทำงาน หลายร้อยปัญหาที่ซับซ้อนเหลือเกินค่ะพี่ตูน และไม่แน่ว่าขณะที่พี่ตูนกำลังสบตากับสาวต่างชาติขณะนี้ ลูกของเธออาจเพิ่งตายจากการคลอดด้วยหมอตำแยมาก็เป็นได้

เอกสารอ่านประกอบ:
ความเหยียดหยันอันย้อนแย้ง: https://waymagazine.org/pinkaew_laungaramsri/
แรงงานข้ามชาติ…ชีวิตที่ไร้หลักประกัน: https://waymagazine.org/labour_phuket/
“ไม่มีใครอยากทิ้งลูก” เหตุผลที่ต้องจำใจของแรงงานข้ามชาติ: https://waymagazine.org/stateless_people/

นอกจากนี้ยังมีเรื่องอื่นๆ อีก เช่น
1. ดิวตี้ฟรีปลอมที่แม่สาย คือเป็นทั้งแหล่งขายของปลอมหนีภาษี คือปลอมไม่พอ ยังบอกว่าหนีภาษีด้วย! #เฉียบเป็นพื้นที่ที่ทำให้เงินสดสะพัดไปทั่วประเทศ เป็นแลนด์มาร์คของอำเภอแม่สาย และแม้จะเป็นพื้นที่ที่ทางการยกให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวังและเข้าไปตามจับ (ถ้าว่างและอยาก) แต่ก็ถือเป็นแหล่งช็อปปิ้ง เป็นแหล่งดูงานของชาวพันทิปให้เข้าไปตรวจสอบของปลอมและนำกลับมาขายต่อกันให้รึ่ม
2. แหล่งขนถ่าย นำเข้าและส่งออกยาเสพติดระดับยักษ์ของประเทศ เป็นพื้นที่จับกุมพ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่ๆ ที่ขายส่งแบบพันล้านเม็ด เป็นแหล่งส่งออกสินค้าเถื่อน อาวุธเถื่อน เป็นพื้นที่เรดโซนฉบับที่จะพบเห็นการต่อสู้ระหว่างตำรวจและโจรผู้ร้ายได้ในละครหลังข่าวทั่วไป


way magazine added 13 new photos.
November 11 at 6:02am ·